เอเอฟพี - สหรัฐฯ ออกมาแสดงท่าทีเปิดกว้างหากอิหร่านต้องการมีส่วนร่วมในการเจรจาเพื่อยุติสงครามซีเรีย ขณะที่เพนตากอนประกาศจะยกระดับปฏิบัติการทางทหารเพื่อกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) วานนี้ (27 ต.ค.)
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า อาจจะมีการส่งเครื่องบินเข้าไปโจมตีไอเอสหนักหน่วงยิ่งขึ้น หรือแม้กระทั่งใช้หน่วยรบพิเศษปฏิบัติการภาคพื้นดินเพื่อเด็ดหัวนักรบอิสลามิสต์ซึ่งพยายามสร้างรัฐอิสลามที่ปกครองด้วยระบอบคอลีฟะห์ขึ้นในอิรักและซีเรีย
ในด้านการทูต กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยอมรับว่า อาจมีการเชื้อเชิญ “อิหร่าน” ซึ่งเป็นมิตรกับประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด เข้าร่วมเวทีเจรจารอบใหม่ที่กรุงเวียนนาในสัปดาห์นี้ เพื่อช่วยกันแสวงหาทางออกทางการเมืองในซีเรีย
“ในส่วนของการเชิญอิหร่านนั้น ผมคิดว่าผู้นำอิหร่านอาจจะถือได้ว่า นี่เป็นคำเชิญแบบพหุภาคีอย่างแท้จริง” จอร์น เคอร์บีย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลง
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยืนยันว่า วอชิงตันไม่คัดค้านหากอิหร่านอยากจะมีส่วนในการเจรจาครั้งนี้ แต่ยังไม่ระบุชัดเจนว่าประเทศใดจะรับหน้าที่ส่งคำเชิญ และไม่แน่ใจด้วยว่าเตหะรานจะตอบรับหรือไม่
สำหรับการเจรจาที่กรุงเวียนนาในวันศุกร์นี้ (30 ต.ค.) มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวในซีเรีย เพื่อปูทางไปสู่การสละอำนาจของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด
ขณะที่การเจรจาทางการเมืองยังคงดำเนินไป กลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ ก็ได้ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดโจมตีเป้าหมายไอเอสในอิรักและซีเรียอย่างไม่หยุดยั้ง
แอชตัน คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยืนยันต่อคณะกรรมการกิจการกองทัพแห่งวุฒิสภาว่า กองทัพจะไม่ปฏิเสธการใช้ “ปฏิบัติการภาคพื้นดินโดยตรง” หากเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะทำลายกลุ่มไอเอสได้
ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ยังไม่อนุมัติให้ส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้าไปสู้รบแนวหน้าร่วมกับกบฏซีเรียและทหารเคิร์ด แต่วอชิงตันก็ได้ส่งทหารราว 3,500 นายไปยังแบกแดดเพื่อคอย “ฝึกฝนและให้คำแนะนำ” แก่กองทัพอิรักในการต่อสู้กับพวกไอเอส
อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาทหารเหล่านี้เริ่มถูกดึงเข้าไปพัวพันกับการสู้รบทางภาคเหนือของอิรักมากขึ้นทีละน้อย
สัปดาห์ที่แล้ว กองทัพอเมริกันต้องสูญเสียชีวิตทหารรายแรกไปในปฏิบัติการทลายเรือนจำไอเอส ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยคอมมานโดสหรัฐฯ กับทหารเคิร์ด “เปชเมอร์กา” และสามารถช่วยชีวิตตัวประกันออกมาได้ราว 70 คน
หลังเกิดเหตุการณ์ คาร์เตอร์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ตน “คาดหวังว่าจะมีภารกิจเช่นนี้อีก” และเมื่อวานนี้ (27) เขาก็ได้เน้นย้ำต่อบรรดา ส.ว. ว่า สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรจะพุ่งเป้าไปยังฐานที่มั่นหลักของไอเอสในเมืองรอกเกาะห์ (Raqa) ของซีเรีย
“หลังจากนี้เราจะยกระดับการโจมตีให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการส่งเครื่องบินของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรเข้าไปเพิ่มเติม และด้วยประสิทธิภาพด้านข่าวกรองที่สูงขึ้นจะทำให้เราสามารถโจมตีเป้าหมายที่มีมูลค่าสูงได้ (high-value targets) ได้”
คาร์เตอร์ ยังเอ่ยถึงยุทธศาสตร์ “3 อาร์” ของสหรัฐฯ ซึ่งหมายถึง การจู่โจม (raid), รอกเกาะห์ (Raqa) และรามาดี (Ramadi) ซึ่งคำท้ายสุดเป็นชื่อเมืองเอกของจังหวัดอันบาร์ในอิรักที่ถูกนักรบไอเอสยึดไว้ได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม
ความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะ “บั่นทอนและทำลาย” กลุ่มไอเอสต้องเผชิญอุปสรรคใหญ่จากการต่อสู้ระหว่างกองทัพอัสซาดกับเครือข่ายกบฏสุหนี่ที่ต้องการล้มรัฐบาล ซึ่งทำให้ซีเรียตกอยู่ในภาวะไร้ขื่อแปมานานเกือบ 5 ปี
รัสเซีย อิหร่าน และขบวนการเคลื่อนไหวชีอะห์ “ฮิซบอลเลาะห์” ในเลบานอนจัดส่งอาวุธเข้าไปช่วยเหลือกองทัพอัสซาดมาโดยตลอด ส่วนฝ่ายกบฏก็ได้พันธมิตรสหรัฐฯ อย่าง ซาอุดีอาระเบีย และตุรกี คอยหนุนหลัง
อย่างไรก็ตาม จอห์น เบรนแนน ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ชี้ว่า มอสโกเล็งเห็นอยู่แล้วว่าจะต้องมีการผ่องถ่ายอำนาจเกิดขึ้นในซีเรีย และท้ายที่สุด อัสซาด ก็จะต้องเป็นฝ่ายไป
“ถึงพวกเขาจะพูดอย่างไร แต่ผมเชื่อว่า ลึกๆ แล้วรัสเซียเองก็ทราบดีว่า อนาคตของซีเรียจะต้องไม่มี อัสซาด เป็นผู้นำ... รัสเซียเข้าใจดีว่าปัญหาซีเรียจะใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้าไปแก้คงไม่สำเร็จ แต่ต้องใช้กระบวนการทางการเมืองเท่านั้น” เบรนแนน กล่าว
ด้านทำเนียบขาวแถลงว่า โอบามา ได้โทรศัพท์ติดต่อสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย แต่ไม่ได้เอ่ยชัดเจนว่าเป็นการปลอบประโลมให้ผู้นำซาอุฯ ยอมเปิดทางให้อิหร่านร่วมเจรจาคลี่คลายปัญหาซีเรียหรือไม่