xs
xsm
sm
md
lg

จับตา!สหรัฐฯส่งเรือพิฆาตกระตุกหนวดมังกร เฉียดเกาะเทียมจีน24ชม.ข้างหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) ภาพถ่ายจากหน้าต่างเครื่องบินทหารฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2015 แสดงให้เห็นถึงงานถมทะเลสร้างเกาะเทียมบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ของจีน
รอยเตอร์ - กองทัพเรือสหรัฐฯจะส่งเรือพิฆาตยูเอสเอส ลาสเซน ล่องเข้าไปในรัศมี 12 ไมล์ทะเลของเหล่าเกาะเทียมที่สร้างโดยปักกิ่งในทะเลจีนใต้ภายใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า นับเป็นการท้าทายมากกว่าปกติครั้งแรกต่อคำกล่าวอ้างสิทธิ์ของจีนเหนือบริเวณที่ยังเป็นข้อพิพาทอยู่ เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมอเมริกาเผยในวันจันทร์(26ต.ค.)

การลาดตระเวนของเรือพิฆาตยูเอสเอส ลาสเซน จะเกิดขึ้นใกล้ๆแนวปะการังซูบีและมิสชีฟ บริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ ที่เคยจมอยู่ใต้น้ำตอนน้ำขึ้น ก่อนที่จีนจะเริ่มต้นโครงการยักษ์ถมทะเลเปลี่ยนมันเป็นหมู่เกาะเทียมในปี 2014

จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมเผยว่าเรือลำนี้น่าจะล่องไปพร้อมกับเครื่องบินลาดตระเวน P-8A ของกองทัพเรือสหรัฐฯ และเป็นไปได้ที่เครื่องบินลาดตระเวนแบบ P-3 ซึ่งถูกใช้ในภารกิจลาดตระเวนในภูมิภาคเป็นประจำจะร่วมเดินทางไปด้วย

ทั้งนี้การลาดตระเวนดังกล่าวจะกลายเป็นการท้าทายครั้งหนักหน่วงที่สุดของสหรัฐฯต่อเขตหวงห้ามทางอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลที่จีนกล่าวอ้างรอบๆหมู่เกาะและยังเกิดขี้นตามหลังการพิจารณาอย่างรอบคอบมานานหลายเดือน ขณะที่เจ้าหน้าที่รายนี้เสริมว่าหลังจากนั้นก็จะมีการลาดตระเวณเพิ่มเติมอีกในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯอ้างว่าในอดีตที่ผ่านมา อเมริกาเคยมีการลาดตระเวนคล้ายๆกันรอบๆสิ่งปลูกสร้างที่เวียดนามและฟิลิปปินส์สร้างขึ้นในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์มาแล้ว

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เสี่ยงซ้ำเติมความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดอยู่ก่อนแล้วกับจีน ชาติเศรษฐกิจหมายเลข 2 ของโลก ซึ่งมีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและภาคธุรกิจสหรัฐฯ

จีน อ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ทางกระทรวงการต่างประเทศเตือนว่าปักกิ่งจะไม่ยินยอมให้ประเทศใดใช้สิทธิเสรีภาพการเดินเรือหรือการบินเหนือทะเลจีนใต้เป็นข้ออ้างบังหน้าสำหรับละเมิดอาณาเขตทางน้ำและน่านฟ้าบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ เป็นอันขาด

สหรัฐฯโต้แย้งว่าภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ การสร้างเกาะเทียมบริเวณแนวปะการังที่เคยจมอยู่ใต้น้ำ ไม่ใช่การให้สิทธิ์ประเทศหนึ่งๆกล่าวอ้างข้อจำกัดทางอาณาเขต และสำคัญยิ่งที่ต้องผดุงไว้ซึ่งเสรีภาพการเดินเรือในเส้นทางเดินเรือสมุทร ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในแต่ละปี


กำลังโหลดความคิดเห็น