เอเจนซีส์ - เมื่อวานนี้(19)กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯออกแถลงการณ์ยืนยัน จะยังไม่ปล่อยแพ็กเก็จช่วยเหลือมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์ให้กับรัฐบาลเม็กซิโกในด้านทำสงครามต่อต้านยาเสพติด หลังจากล่าสุดนี้ เม็กซิโกมีสถิติละเมิดสิทธิมนุษยชนสูง ซึ่งรวมไปถึงคดีสำคัญ เช่น คดี 43 นักศึกษาฝึกหัดครูเม็กซิโกที่ถูกลักพาตัวไปอย่างลึกลับในปี 2014
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ รายงานในวันจันทร์(19)ว่า จำนวนเงิน 5 ล้านดอลลาร์ที่ถูกระงับเมื่อวานนี้(19)เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของจำนวนเงินทั้งหมดที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯให้การสนับสนุนรัฐบาลเม็กซิโกของประธานาธิบดี เอ็นริเก เปนญา เนียโต ซึ่งได้รับในแต่ละปีภายใต้โครงการช่วยเหลือในการฝึกอบรมและป้อนอาวุธให้กับเจ้าหน้าที่ความมั่นคง และช่วยเสริมให้ระบบยุติธรรมเม็กซิโกมีความเข้มแข็ง
ซึ่งภายใต้โครงการ Merida Initiative ที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯได้หยิบยื่นให้กับเม็กซิโกในการแก้ปัญหาอาชญากรรมค้ายาเสพติดของเครือข่ายอาชญากรรม โดยมี 15% ของสัดส่วนเงินช่วยเหลือทั้งหมดจัดให้กับหน่วยงานตำรวจและกองทัพเม็กซิโกโดยเฉพาะตามเงื่อนไขกำหนด โดยจะดูควบคู่ไปกับความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนของเม็กซิโกเป็นหลัก สื่อสหรัฐฯรายงาน
และในปีนี้ พบว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเม็กซิโกสูงเป็นประวัติการ ซึ่งรวมไปถึงคดีการหายตัวไปของ 43 นักศึกษาฝึกหัดครูเม็กซิกัน ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯเลือกที่จะไม่ส่งรายงานความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนเม็กซิโกไปยังรัฐสภาคองเกรสเพื่อรับทราบ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา เคยมีการปล่อยเงินช่วยเหลือช้าออกไป แต่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสสตร์ที่มีการแช่แข็งเงินก้อนนี้
“ในปีนี้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯไม่สามารถยืนยัน และจัดทำรายงานให้กับรัฐสภาสหรัฐฯได้เพื่อยืนยันว่าเม็กซิโกมีคุณสมบัติครบทุกประการที่จะได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ” ผู้ช่วยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มาร์ก โทนเนอร์ ( Mark Toner) แถลง และกล่าวเพิ่มเติมว่า เงินจำนวนราว 5 ล้านดอลลาร์จากทั้งหมด 95 ล้านดอลลาร์ ในโครงการ Merida Initiative จะถูกส่งไปให้การสนับสนุนการปราบปรามต้นโคคาในเปรูแทน ซึ่งต้นไม้ประเภทนี้ใช้นำมาผลิตสารยาเสพติดโคเคน
ทั้งนี้โครงการMerida Initiative เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนการปราบปรามแก๊งยาเสพติดในเม็กซิโก ที่มีการริเริ่มดครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2007ในสมัยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอร์จ ดับเบิลยู บุช และนับตั้งแต่นั้นมารัฐสภคองเกรสได้อนุมัติเงินช่วยเหลือสนับสนุนไปแล้วร่วม 2.5 พันล้านดอลาร์ ซึ่งเงินกองทุนนี้ถูกนำไปใช้ในด้านต่างๆเป็นต้นว่าเฮลิคอปเตอร์สำหรับตำรวจและทหารเม็กซิโก การอบรมผู้พิพากษาและอัยการ นิติวิทยาศาตรสำหรับการสอบสวน และเครื่องมือ X-Ray สำหรับศุลกากรเม็กซิโก
อย่างไรก็ตาม วอชิงตันโพสต์ชี้ว่า กระทรวงต่างประเทศเม็กซิโกไม่ได้ยืนยันอย่างตรงไปตรงมาถึงการถูกตัดงบความช่วยเหลือครั้งนี้ เพียงแต่เปรยว่า รัฐบาล เปนญา เนียโตไม่รู้สึกพอใจในการตัดสินใจของวอชิงตันครั้งนี้
“รัฐบาลกลางสหรัฐฯประจักษ์ถึงความตั้งใจอย่างมุ่งมั่นของเม็กซิโกในการที่จะสู้กับความท้าทายในปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเม็กซิโก” รายงานจากแถลงการณ์กระทรวงต่างประเทศเม็กซิโก
และในแถลงการณ์ยังระบุเพิ่มเติมว่า “การประชุมระดับทวิภาคีของทั้งสองชาติ ร่วมถึงความร่วมมือในระดับเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้”
อย่างไรก็ตามซาอิด ราอัด อัล-ฮุสเซน (Zeid Ra’ad al-Hussein) ประธานคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ OHCHR ที่เพิ่งเยือนเม็กซิโกอย่างเป็นทางการไม่นานมานี้ได้ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลของเปนญา เนียโต ว่า ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการแก้ปัญหาความรุนแรงและอาชญากรรมในประเทศ
“สำหรับประเทศที่ไม่มีการเผชิญหน้ากับสงคราม ตัวเลขผู้เสียชีวิตกลับนับวันเพิ่มขึ้น ซึ่งพบว่าตั้งแต่ช่วงเวลาธันวาคม 2006 ไปจนถึงสิงหาคม 2015 มีผู้เสียชีวิตไปแล้วถึง 151,233 คน และยังรวมไปถึงผู้คนอีกหลายหมื่นที่ต้องหนีภัยสงคราม” อัล-ฮุสเซนแถลงในเดือนนี้
และประธาน OHCHR ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “นอกจากนี้ผู้หญิงและเด็กหญิงยังถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างป่าเถื่อน หรือกลายเป็นเหยื่อภัยความรุนแรงสังหารสตรี และเหนือสิ่งอื่นใดที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ กระบวนการยุติธรรมเม็กซิโกกลับไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดทุกรายมาลงโทษได้”
อัล-ฮุสเซนยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาการถูกลักพาตัวในเม็กซิโก ที่พบว่ามีผู้สูญหายจำนวนมากถึง 26,000 คนที่ยังคงอยู่ในสถานะสูญหายจนถึงทุกวันนี้ และเขาเชื่อว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงแดนจังโก้มีส่วนต้องรับผิดชอบในคดีสูญหายเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการทรมาน หรือการสังหารโดยคนในเครื่องแบบโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการไต่สวนในชั้นศาล