รอยเตอร์/ASTV ผู้จัดการ - นายจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศ และแอช คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ พบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมของออสเตรเลียในบอสตันเมื่อวันอังคาร (13 ต.ค.) เพื่อหารือขยายความร่วมมือในทะเลจีนใต้ และความเป็นไปได้ที่อเมริกาจะลาดตระเวนเฉียดใกล้เกาะเทียมของปักกิ่งภายในรัศมี 12 ไมล์ทะเล
ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์สรายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งบอกว่ากองเรือของสหรัฐฯ จะล่องเข้าไปในรัศมี 12 ไมล์ทะเลที่จีนกล่าวอ้างเหนืออาณาเขตรอบๆ เหล่าเกาะเทียมบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า
จากนั้นในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว พล.ร.อ.แฮร์รี แฮร์ริส ผู้บัญชาการกองเรือสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก บอกกับที่ประชุมสัมมนาในกรุงวอชิงตัน แนะว่าอเมริกาต้องดำเนินการลาดตระเวนทางเรือไปทั่วเอเชียแปซิฟิก เพื่อแสดงออกถึงเสรีภาพในการเดินเรือ แต่ปฏิเสธพาดพิงถึงแผนล่องเรือเข้าไปในรัศมี 12 ไมล์หรือบินเข้าไปในรัศมี 12 ไมล์ของเกาะเทียมทั้งหลายแหล่ที่จีนสร้างขึ้นในทะเลจีนใต้
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวกระตุ้นให้จีนซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ รุดออกมาเตือนในวันเดียวกันว่าปักกิ่งจะไม่อดทนต่อการอ้างเสรีภาพในการเดินเรือแล้วล่วงละเมิดน่านน้ำของพวกเขา
ในวันอังคาร (13 ต.ค.) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ เผยว่า ประเด็นการลาดตระเวนดังกล่าวจะถูกหยิบยกมาหารือกันระหว่างที่นายเคร์รี และนายคาร์เตอร์ การพบปะกันนางจูเลีย บิชอป รัฐมนตรีต่างประเทศ และนางมาริส เพย์น รัฐมนตรีกลาโหมของออสเตรเลีย ซึ่งโอกาสนี้จะมีการลงนามในข้อตกลงขยายความร่วมมือด้านกลาโหมด้วย “เราจะร่วมมือกับออสเตรเลียในบางพื้นที่ของทะเลจีนใต้” เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวบอก และว่า “เรากำลังมองหาทางขยายโอกาสสำหรับปฏิบัติการร่วมกัน”
เจ้าหน้าที่รายนี้ปฏิเสธรายงานข่าวที่บอกว่าสหรัฐฯ ตัดสินใจแล้วว่าจะปฏิบัติการเดินเรือเสรีภายในเขตหวงห้าม รัศมี 12 ไมล์ทะเล ที่จีนกล่าวอ้างเหนืออาณาเขตรอบๆ เหล่าเกาะเทียมบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ “การท้าท้ายเขต 12 ไมล์ทะเลเป็นหนึ่งในทางเลือกต่างๆ ที่เรากำลังพิจารณา แต่ผมไม่สามารถพูดถึงปฏิบัติการในปัจจุบันหรืออนาคต” เขากล่าว “เรากำลังรอการขอภาคส่วนต่างๆ ในนั้นรวมถึงทำเนียบขาว”
ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ บอกระหว่างการมาเยือนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเมื่อเดือนที่แล้วว่า สหรัฐฯ จะเดินหน้าล่องเรือ บินเหนือท้องฟ้าและปฏิบัติการในทุกๆ ที่ตามที่กฎหมายระหว่างประเทศอนุญาต
จีนกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ รวมถึงหมู่เกาะสแปรตลีย์ และเส้นทางเดินเรือสมุทรมูลค่ารวมกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี ขณะที่หลายประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และไต้หวัน กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกับจีนในบางส่วนเช่นกัน
นักวิเคราะห์บางส่วนในวอชิงตันเชื่อว่า สหรัฐฯ ได้ตัดสินใจเรียบร้อยแล้วและอาจจะดำเนินการลาดตระเวนในช่วงปลายสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้า และมีความเป็นไปได้ว่าจะกระพือเสียงประท้วงมาจากจีน
ด้านไมรา แรปป์-ฮูเปอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลจีนใต้ จากศูนย์ยุทธศึกษาระหว่างประเทศในวอชิงตัน คาดหมายว่าการลาดตระเวนดังกล่าวอาจรวมไปถึงหมู่เกาะต่างๆ ที่ถูกชาติอื่นๆ อ้างกรรมสิทธิ์ด้วย ในนั้นรวมถึงเวียดนาม