รอยเตอร์ – การโจมตีทางอากาศของอิสราเอลต่อเป้าหมายกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ในวันนี้ (11) ได้ทำลายบ้านหลังหนึ่งในละแวกใกล้เคียง ส่งผลให้สตรีชาวปาเลสไตน์รายหนึ่งและลูกสาวของเธอเสียชีวิต เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลระบุ ในขณะที่กระแสความรุนแรงในภูมิภาคนี้ ก่อให้เกิดความกลัวว่าจะขยายวงไปมากกว่านี้
กองทัพอิสราเอลระบุในถ้อยแถลงว่า กองกำลังทางอากาศของพวกเขาได้พุ่งเป้าสถานที่ติดตั้งอาวุธ 2 แห่งของกลุ่มฮามาส กลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ ซึ่งควบคุมฉนวนกาซา เพื่อตอบโต้การยิงจรวดเข้าสู่อิสราเอลเมื่อวันเสาร์ (10) และวันศุกร์ (9)
ผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวว่า ระเบิดรุนแรงที่หนึ่งในค่ายของกลุ่มฮามาสในเมืองกาซา ได้ทำให้บ้านหลังหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียงพังลงมา ขณะที่ผู้อยู่อาศัยกำลังนอนหลับอยู่ข้างใน
อัชราฟ อัล-กีดรา โฆษกกระทรวงสาธารณสุขของฉนวนกาซา กล่าวว่า หญิงผู้เสียชีวิตมีอายู 30 ปี และตั้งครรภ์อยู่ ส่วนลูกสาวของเธอมีอายุ 3 ขวบ นอกจากนั้น ยังมีเด็กชายอายุ 5 ขวบ และชายคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ เขากล่าวเสริม
ไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบต่อการยิงจรวด 2 ลูกดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในนั้นถูกยิงสกัดใกล้กับเมืองแอชเคลอนทางตอนใต้ของอิสราเอล อีกลูกหนึ่งตกลงในพื้นที่เปิด ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต กองทัพอิสราเอล ระบุว่า พวกเขาเหมารวมว่าการโจมตีใด ๆ ก็ตามจากฉนวนกาซาล้วนเป็นความรับผิดชอบของกลุ่มฮามาสทั้งสิ้น
ในช่วงเวลา 12 วันของการนองเลือด มีชาวอิสราเอล 4 คน และชาวปาเลสไตน์ 22 คน ถูกสังหารในเยรูซาเลม เวสต์แบงก์ กาซา และหลายเมืองของอิสราเอล โดยชาวปาเลสไตน์ที่ถูกสังหารนั้น ส่วนหนึ่งได้ก่อเหตุโจมตีด้วยมีด สิ่งนี้ได้ก่อให้เกิดความกังวลว่าการลุกฮือของชาวปาเลสไตน์ครั้งใหม่อาจกำลังตั้งเค้า
ชาวปาเลสไตน์ไม่พอใจอย่างมากกับหลาย ๆ เหตุการณ์ที่มัสยิดอัล-อัคซอ ในเมืองเก่า (Old City ) ของกรุงเยรูซาเลม และกลัวว่า รัฐยิวต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสถานะทางศาสนาที่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันดับ 3 สามของศาสนาอิสลามแห่งนี้ ซึ่งได้รับความเคารพจากชาวมุสลิมในฐานะ “Noble Sanctuary” และจากชาวยิวในฐานะ “Temple Mount” ด้านอิสราเอลระบุว่าพวกเขาไม่มีความตั้งใจจะทำเช่นนั้น
การโจมตีด้วยมีดโดยชาวปาเลสไตน์และการปะทะระหว่างทหารอิสราเอลกับผู้ขว้างปาหินชาวปาเลสไตน์เกือบทุกวันในตอนนี้ ไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับการลุกฮือของชาวปาเลสไตน์ในอดีต แต่การขยายวงอย่างรวดเร็วของมันได้กระตุ้นให้เกิดการพูดคุยกันเกี่ยวกับ “อินติฟาเฎาะฮ์” (การลุกฮือขึ้นสู้) ครั้งที่สาม