xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯโมดีวอน “ทัพฟ้า” ใช้เครื่องบินขับไล่ “เมด อิน อินเดีย” ไปพลางๆ เหตุรัฐบาลงบน้อยไม่มีเงินถอย “ราฟาล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย
รอยเตอร์ - รัฐบาลอินเดียปฏิเสธเสียงเรียกร้องจากกองทัพอากาศ ซึ่งต้องการให้จัดซื้อเครื่องบินขับไล่สัญชาติฝรั่งเศส “ราฟาล” (Rafael) เพิ่มเติมเพื่อสนองความจำเป็นในการป้องกันประเทศ โดยขอให้กองทัพกัดฟันใช้อากาศยานขับไล่รุ่นล้าสมัยที่อินเดียพัฒนาขึ้นเองไปพลางๆ ก่อน

การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แม้จะสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ แต่ถือเป็นความพ่ายแพ้ไม่เฉพาะต่อ ดัสโซลต์ เอวิเอชัน ที่เป็นผู้ผลิต “ราฟาล” เท่านั้น แต่ยังรวมถึงค่ายอากาศยานต่างชาติอื่นๆ ที่หวังคว้าส่วนแบ่งตลาดเครื่องบินทหารอินเดียที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

ความพยายามของรัฐบาลเดลีที่จะส่งเสริมเครื่องบินเตจัส (Tejas) ซึ่งเป็นอากาศยานขับไล่ชนิดเบา (light combat aircraft - LCA) ที่อินเดียพัฒนาขึ้นเอง ในขณะที่ขีดความสามารถของกองทัพอากาศเข้าขั้นตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่อินเดียทำสงครามกับจีนในปี 1962 เป็นปัญหาที่กำลังสร้างความอึดอัดไม่น้อยต่อบรรดาผู้นำกองทัพ

โมดี ซึ่งเข้ารับตำแหน่งผู้นำอินเดียเมื่อปีที่แล้ว เคยประกาศย้ำหลายครั้งว่าจะลดการพึ่งพาอาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมาอินเดียถือเป็นประเทศที่มีมูลค่าการนำเข้าอาวุธสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก

กองทัพอากาศอินเดียเรียกร้องให้รัฐบาลจัดซื้อ “ราฟาล” ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์ขนาดกลางเพิ่มอีก 44 ลำ นอกเหนือจากยอดสั่งซื้อจำนวน 36 ลำที่ประกาศไว้ ณ กรุงปารีสเมื่อเดือนมีนาคม ซึ่งก็เป็นการซื้อแบบ off-the-shelf (รุ่นพร้อมจำหน่าย) เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม มโนฮาร์ ปาร์ริการ์ ชี้แจงว่า รัฐบาลไม่มีงบประมาณมากพอที่จะเพิ่มยอดสั่งซื้อราฟาล และขอให้กองทัพนำเครื่องบินขับไล่ Tejas-Mark 1A รุ่นปรับปรุงออกไปใช้งานก่อน

“กองทัพอากาศจำเป็นต้องมีฝูงบินขับไล่ที่พร้อมใช้งานในจำนวนขั้นต่ำตลอดเวลา แต่ด้วยทรัพยากรที่จำกัด แอลซีเอจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดที่เรามีอยู่ในเวลานี้” เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมอินเดีย เผย

“ราฟาล เป็นเครื่องบินขับไล่รุ่นแพงที่สุดที่เราจัดซื้อ ส่วน แอลซีเอ ก็เป็นตัวเลือกที่ประหยัดที่สุดในกลุ่มเครื่องบินขับไล่ด้วยกัน”

กองทัพอากาศยืนยันว่า อินเดียจำเป็นต้องมีเครื่องบินขับไล่ถึง 45 ฝูงเพื่อสกัด “ภัยคุกคาม 2 ทาง” จากเพื่อนบ้านอย่างปากีสถานและจีน ทว่าขณะนี้มีที่พร้อมใช้งานอยู่เพียง 35 ฝูงเท่านั้น และหากรัฐบาลยังมีนโยบายจัดซื้อเท่าในปัจจุบัน ฝูงบินขับไล่ของอินเดียจะหดลงมาเหลือแค่ 25 ฝูงภายในปี 2022 หลังจากเครื่องบินรุ่น MiG 21 ซึ่งผลิตในสหภาพโซเวียตถูกปลดประจำการทั้งหมด
เครื่องบินขับไล่ราฟาล จากค่าย ดัสโซลต์ เอวิเอชัน
รัฐบาลอินเดียอนุมัติโครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ชนิดเบาในปี 1983 โดยมอบหมายให้องค์การวิจัยและพัฒนากลาโหม (DRDO) เป็นผู้รับผิดชอบ และตั้งเป้าที่จะผลิตอากาศยานขับไล่เพื่อใช้งานในกองทัพอากาศให้ได้ภายในปี 1994

โครงการนี้คืบหน้าไปอย่างล่าช้าและเผชิญอุปสรรคหลายอย่าง เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์อินเดียคาดหวังที่จะสร้างเครื่องบินขับไล่ชนิดเบาที่ทันสมัยที่สุดในโลก โดยอินเดียจะผลิตชิ้นส่วนเองทุกขั้นตอน ไม่เว้นกระทั่งเครื่องยนต์

ท้ายที่สุด นักวิจัยอินเดียต้องยอมใช้เครื่องยนต์ที่ผลิตโดยบริษัท จีอี เอวิเอชัน และลดความคาดหวังที่จะสร้างอากาศยานอันทันสมัยที่สุด แต่ถึงกระนั้นก็ยังผลิตออกมาได้เพียง 1 ลำ และยังต้องรอผ่านกระบวนการทดสอบขั้นสุดท้ายในช่วงต้นปี 2016 จึงจะนำออกไปใช้งานจริงได้
เครื่องบินขับไล่ชนิดเบา “เตจัส” (Tejas) ของกองทัพอากาศอินเดีย ในงานแสดงการบิน แอโร อินเดีย แอร์โชว์ ที่ฐานทัพอากาศเยลาฮันกาในเมืองเบงกาลูรู เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

กำลังโหลดความคิดเห็น