xs
xsm
sm
md
lg

ขออีกสักตั้ง! หนุ่มญี่ปุ่นผู้สูญเสียนิ้วมือ 9 นิ้วเตรียมขึ้นพิชิต “เอเวอเรสต์” อีกรอบ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โนบุคาซุ คูริกิ วัย 33 ปี นักปีนเขาชาวญี่ปุ่นผู้สูญเสียนิ้วมือไป 9 นิ้วเนื่องจากถูกหิมะกัด
เอเอฟพี - นักปีนเขาชาวญี่ปุ่นผู้สูญเสียนิ้วมือไปแล้ว 9 นิ้วเนื่องจากถูกหิมะกัด เตรียมจะปีนป่ายขึ้นไปพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์อีกครั้งในอีกไม่กี่วันข้างหน้า หลังความพยายามที่จะขึ้นถึงยอดเขาสูงที่สุดในโลกเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ไม่ประสบผลสำเร็จ บริษัทที่จัดกิจกรรมปีนเขาเผยวันนี้ (28 ก.ย.)

โนบุคาซุ คูริกิ ซึ่งถูกความเย็นเฉียบของหิมะกัดกร่อนนิ้วมือไปถึง 9 นิ้ว ระหว่างปีนยอดเขาเอเวอเรสต์เมื่อปี 2012 เป็นนักปีนเขาเพียงคนเดียวที่พยายามจะขึ้นไปให้ถึงยอดสูงสุดในปีนี้ หลังเหตุแผ่นดินไหวที่เนปาลเมื่อเดือนเมษายนทำให้เกิดหิมะถล่มลงมาคร่าชีวิตคนที่เบสแคมป์ 18 ศพ ซึ่งทำให้นักปีนเขาส่วนใหญ่ล้มเลิกความตั้งใจที่จะพิชิตยอดเขาสูง 8,848 เมตร และถือเป็นฤดูปีนเขาปีที่ 2 แล้วที่ยังไม่มีใครสามารถขึ้นไปถึงยอดเอเวอเรสต์ได้เลย

เมื่อปี 2014 ก็มีไกด์ชาวเนปาลเสียชีวิต 16 คนเนื่องจากหิมะถล่ม ทำให้ต้องมีการปิดเส้นทางขึ้นยอดเอเวอเรสต์ชั่วคราว

คูริกิ วัย 33 ปี ซึ่งพยายามปีนยอดเอเวอเรสต์เป็นครั้งที่ 5 ตัดสินใจกลับลงมายังเบสแคมป์เมื่อกลางดึกวันอาทิตย์(27) เพราะเกรงว่าหากยังขืนไปต่ออาจไม่ได้กลับมาในสภาพที่ยังมีชีวิตอยู่

“เขาจะพักอยู่ที่เบสแคมป์อีก 2-3 วัน และจะพยายามกลับขึ้นไปอีกครั้งในวันที่ 1 ตุลาคม” ติการัม กูรุง ผู้อำนวยการบริษัท โบชิ-โบชิ เทร็ก ซึ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ คูริกิ กล่าว

“เขามีสภาพร่างกายแข็งแรงดี และไม่ได้เผชิญปัญหาเลวร้ายใดๆ ในการปีน” กูรุง ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
ยอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งมีความสูงถึง 8,848 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
สำหรับความพยายามครั้งนี้ คูริกิ จะเดินจากเบสแคมป์ขึ้นไปเพียงคนเดียว ซึ่งต่างจากครั้งที่แล้วที่มีทีมช่วยเหลือ 6 คนติดตามไปด้วยจนถึงแคมป์ 2 ที่ความสูง 6,400 เมตร

“เขาจะไม่ใช้ออกซิเจนบรรจุกระป๋องในการปีนครั้งนี้ด้วย” กูรุง กล่าวเสริม

การพิชิตยอดเอเวอเรสต์ในช่วงนี้มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ เนื่องจากเนปาลยังคงเผชิญอาฟเตอร์ช็อกจากแผ่นดินไหวเมื่อเดือนเมษายนอยู่เนืองๆ ซึ่งอาจทำให้หิมะบนภูเขาพังถล่มลงมาได้ทุกเมื่อ นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปีนเขายังเตือนว่า การปีนในฤดูใบไม้ร่วงมีอันตรายมากกว่าฤดูใบไม้ผลิ เพราะกระแสลมค่อนข้างรุนแรง และอุณหภูมิลดต่ำลง

คูริกิ ยอมรับว่า เมื่อวันอาทิตย์(27) เขาใช้เวลานานเกินไปในการปีนป่ายผ่านเส้นทางช่วงสุดท้ายก่อนถึงยอดเขา

“ผมพยายามอย่างหนักและใช้พลังงานทั้งหมดที่มีอยู่ แต่มันใช้เวลานานเกินไปในการเคลื่อนที่ผ่านหิมะที่หนาและลึกมาก ผมบอกตัวเองว่า ถ้าขืนไปต่อคงไม่ได้กลับมาในสภาพที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นแน่ ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจกลับลงมา” เขาโพสต์ข้อความไว้ในเพจเฟซบุ๊ก

ด้านบริษัท ไฮเม็กซ์ และ อัลติจูด จังกีส์ ซึ่งรับจัดกิจกรรมปีนเขา ก็ประกาศงดนำนักท่องเที่ยวขึ้นสู่ยอดเขามานัสลู (Manaslu) ซึ่งเป็นยอดเขาสูงอันดับ 8 ของโลกในเนปาลช่วงนี้ โดยระบุว่าบนเส้นทางมีหิมะหนาถึงระดับเอว และเสี่ยงที่จะเจอหิมะถล่มบนเส้นทางสู่แคมป์ 4 ซึ่งเป็นจุดพักสุดท้ายก่อนถึงยอดเขา

อุตสาหกรรมปีนเขาถือเป็นแหล่งรายได้หลักสำหรับเนปาล ซึ่งมียอดเขาสูงเกิน 8,000 เมตรอยู่ถึง 8 แห่งจากทั้งหมด 14 แห่งในโลก ทว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 25 เมษายนซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปเกือบ 8,900 คน ส่งผลให้ธุรกิจปีนเขาของเนปาลเผชิญภาวะซบเซาในช่วงนี้

นอกจากทำให้เกิดหิมะถล่มที่เชิงเขาเอเวอเรสต์แล้ว แผ่นดินไหวเนปาลยังทำลายเส้นทางผ่านภูเขา “ลังตัง” ซึ่งเป็นเส้นทางเดินป่าที่นักท่องเที่ยวนิยมกันมากด้วย
เส้นทางขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์
แผนที่แสดงเส้นทางจากเบสแคมป์ไปจนถึงยอดเอเวอเรสต์ที่ความสูง 8,848 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
รอยแยกขนาดใหญ่บนพื้นถนนชานกรุงกาฐมาณฑุ หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแแรง เมื่อวันที่ 25 เม.ย.

กำลังโหลดความคิดเห็น