xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ อ้าแขนรับญี่ปุ่นขยายบทบาททางทหาร ย้ำไม่เป็น “ภัยคุกคาม” ต่อจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แดเนียล อาร์ รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - สหรัฐอเมริกาให้การตอบรับอย่างแข็งขันต่อจุดยืนของรัฐบาลญี่ปุ่นชุดปัจจุบันที่ต้องการปลดเปลื้อง “ข้อจำกัดทางทหาร” และแสดงบทบาทของกองทัพแดนปลาดิบเพิ่มขึ้นในเวทีโลก โดยทางวอชิงตันย้ำชัด บทบาทด้านความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นของญี่ปุ่นไม่ถือเป็น “ภัยคุกคาม” สำหรับจีน

แดเนียล อาร์ รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ออกโรงยืนยันที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยระบุว่ารัฐบาลอเมริกันมีความยินดีที่ญี่ปุ่นจะมีบทบาทด้านการทหารและความมั่นคงที่เพิ่มสูงขึ้นในเวทีโลกนับจากนี้ ซึ่งจะเป็นผลดียิ่งในการช่วยแบ่งเบาภาระของสหรัฐฯ โดยเฉพาะบทบาทในการช่วยปกป้องชาติพันธมิตรจากภัยคุกคาม และว่าจีนไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องกังวลว่าญี่ปุ่นจะหวนกลับไปยึดนโยบายใช้ “กองทัพนำการเมือง” เหมือนเช่นในอดีตอีก

“ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในญี่ปุ่นจะเป็นผลดีมากกว่าผลเสียต่อเอเชีย และวอชิงตันก็อ้าแขนรับการเปลี่ยนแปลงในญี่ปุ่นคราวนี้ ด้วยความยินดีและเต็มใจเป็นอย่างยิ่ง และเราขอยืนยันว่า บทบาททางทหารของญี่ปุ่นที่กำลังจะเพิ่มพูนขึ้นนับจากนี้ จะไม่เป็นภัยคุกคามใดๆ ต่อจีน และชาติเพื่อนบ้านในภูมิภาค เรากล้ายืนยันว่าญี่ปุ่นจะไม่นำกองทัพของตน เดินตามเส้นทางที่ผิดพลาดอย่างในอดีตอีก” ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว

อย่างไรก็ดี ในการให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวล่าสุดของผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ไม่ได้มีการพูดถึงการปรับลดจำนวนทหารอเมริกันในญี่ปุ่นลงแต่อย่างใด หลังจากญี่ปุ่นเดินหน้าเพิ่มพูนบทบาทด้านความมั่นคง ซึ่งนั่นก็หมายความว่า จำนวนทหารอเมริกันเกือบ 50,000 นายที่ประจำการในแดนปลาดิบอยู่ในเวลานี้ จะยังไม่เปลี่ยนแปลง

ท่าทีล่าสุดของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลอเมริกันมีขึ้นภายหลังจากที่รัฐสภาญี่ปุ่นลงมติผ่านความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติด้านความมั่นคงฉบับใหม่เมื่อ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา และถูกมองว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายครั้งสำคัญ ที่จะเปิดทางให้ทหารแดนปลาดิบร่วมรบในต่างแดนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1945 ถือเป็นชัยชนะของนายกรัฐมนตรีสายเหยี่ยวอย่างชินโซ อาเบะ ผู้ผลักดันให้ผ่อนคลายข้อจำกัดด้านกองทัพของรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพ

นายกรัฐมนตรีอาเบะบอกว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายกลาโหมครั้งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น นับตั้งแต่จัดตั้งกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลและอากาศขึ้นในปี 1954 มีความสำคัญยิ่งในการเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ อย่างเช่นการผงาดขึ้นมาของจีน

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนับเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี นับตั้งแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะหันไปให้ความสำคัญต่อการใช้กำลังทหารของตนในการแสดงบทบาทในสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการอนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นมีสิทธิในการปกป้องตนเอง หรือสามารถเข้าช่วยเหลือชาติพันธมิตร แม้ว่าญี่ปุ่นไม่ถูกโจมตีโดยตรงก็ตาม

อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่นี้ได้โหมกระพือกระแสแห่งความไม่พอใจและนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ของประชาชนทั่วไปที่มองว่ากฏหมายใหม่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพ และอาจดึงญี่ปุ่นเข้าไปติดอยู่ใน “บ่วงความขัดแย้งต่างๆ” โดยเฉพาะความขัดแย้งที่สหรัฐฯเป็นคนก่อขึ้น หลังญี่ปุ่นอยู่อย่างสงบและสันติมานานกว่า 70 ปีนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

อาเบะบอกกับผู้สื่อข่าวหลังจากที่ประชุมวุฒิสภาเต็มคณะ ได้ผ่านความเห็นชอบต่อเนื้อหาและข้อกำหนดในพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า กฎหมายนี้มีความจำเป็นเพื่อปกป้องชีวิตประชาชนและแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสันติ และจุดประสงค์ของกฎหมายล่าสุดนี้ คือ การ “ป้องกันสงคราม” มิใช่ “การก่อสงคราม” แต่อย่างใด