รอยเตอร์ - หน่วยงานด้านความมั่นคงยูเครน สั่งห้าม ซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี เดินทางเข้าประเทศ โดยอ้างเพื่อประโยชน์ต่อความมั่นคงของชาติ หลังเขาเดินทางเยือนไครเมียเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา จากรายงานของ Apostrophe หนังสือพิมพ์ออนไลน์ของยูเครนเมื่อวันพฤหัสบดี (17 ก.ย.)
ก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายน นายแบร์ลุสโกนีกลายเป็นนักการเมืองตะวันตกที่มีชื่อเสียงที่สุดซึ่งเดินทางเยือนไครเมียที่ถูกผนวกเข้ากับรัสเซีย เพื่อพบปะกับเพื่อนเก่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ความเคลื่อนไหวที่ดูเหมือนว่าไม่เป็นที่ยินดีแก่ทางยูเครนเท่าใดนัก
สำนักข่าว Apostrophe รายงานในวันพฤหัสบดี (17 ก.ย.) ว่าทางสำนักงานกิจการความมั่นคงแห่งยูเครน (SBU) มีมติออกคำสั่งห้ามนายแบร์ลุสโกนี พลเมืองอิตาลีเข้ามายังอาณาเขตของยูเครนเป็นเวลา 3 ปี เพื่อสงวนไว้ซึ่งผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ทาง SBU ยังไม่ยืนยันรายงานข่าวนี้ ส่วนทางโฆษกของนายแบร์ลุสโกนีก็ไม่ขอแสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวเช่นกัน
มีบุคคลสาธารณะชาวตะวันตกแค่เล็กน้อยที่เดินทางไปเยือนไครเมีย นับตั้งแต่รัสเซียยึดดินแดนแห่งนี้มาจากยูเครนในเดือนมีนาคม 2014 การผนวกดังกล่าวฉุดความสัมพันธ์ระหว่างมอสโกกับตะวันตกดำดิ่งสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น และกระตุ้นให้สหรัฐฯกับสหภาพยุโรป ออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย
คำสั่งห้ามนายแบร์ลุสโกนีเข้าประเทศ มีขึ้นท่ามกลางคำแถลงหลายรอบของยูเครนต่อการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรอย่างกว้างขวางต่อบุคคลและบริษัทต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับรัสเซีย แต่ในบัญชีดำนั้นกลับรวมไปถึงผู้สื่อข่าวหลายสิบคน ในนั้นจำนวนมากเป็นนักข่าวยุโรป จึงเรียกเสียงวิจารณ์โดยทันทีจากพันธมิตรตะวันตก
นายแบร์ลุสโกนี เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอิตาลีมาแล้ว 4 รอบ และหนสุดท้ายถูกขับไล่ในปี 2011 ท่ามกลางวิกฤตการเงินยูโรโซน