เอเอฟพี/รอยเตอร์ - บัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติเมื่อวันพุธ (16 ก.ย.) ประณามฮังการีต่อแนวทางปฏิบัติกับผู้อพยพ หลังตำรวจยิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำเข้าใส่ผู้ต้องการลี้ภัย บริเวณชายแดนติดกับเซอร์เบีย เพื่อสกัดไม่ให้คนเหล่านั้นซึ่งมีจุดหมายต่อไปยังทางเหนือและตะวันตกของยุโรป เดินทางเข้าประเทศ
“ผมรู้สึกช็อกอย่างยิ่งต่อแนวทางที่ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเหล่านี้ได้รับการปฏิบัติ มันเป็นสิ่งที่มิอาจยอมรับได้” นายบันแถลงต่อผู้สื่อข่าว ตอบคำถามเกี่ยวกับเหตุปะทะบริเวณเขตชายแดน พร้อมย้ำว่า “คนเหล่านี้หนีภัยสงครามและการถูกตามประหัตประหารมา ดังนั้นการตอบสนองควรมีความเมตตาเป็นตัวนำ เราควรแสดงให้พวกเขาเห็นถึงความโอบอ้อมอารี พวกเขาควรได้รับการปฏิบัติด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”
ถ้อยแถลงของเลขาธิการสหประชาชาติมีออกมา หลังจากในวันเดียวกันตำรวจฮังการีปะทะกับผู้อพยพหลายร้อยคนนานหลายชั่วโมง หลังจากรัฐบาลปิดชายแดนทางใต้ติดกับเซอร์เบีย ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดผ่านแดนสำคัญในการเดินทางเข้าสหภาพยุโรป
ความตึงเครียดทะลักจุดเดือดขึ้น หลังผู้ลี้ภัยหลายร้อยคนที่อยู่ในอารมณ์เดือดดาล ช่วยกันพังแผงกำแพงตะแกรงรั้วที่ปิดกั้นเส้นทางเข้าสู่ดินแดนของฮังการี ณ จุดผ่านแดนรอสเก และเหตุปะทะคราวนี้ส่งผลให้มีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 14 นาย
ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีซึ่งอยู่ ณ จุดเกิดเหตุ รายงานว่าตำรวจยิงแก๊สน้ำตาอย่างน้อย 20 ลูกเข้าใส่ฝูงชนที่ตะโกนร้องเป็นภาษาอาหรับพร้อมกับชูกำปั้นขึ้นฟ้า เหล่าเด็กๆ พากันร้องไห้จากผลกระทบของแก๊สน้ำตา ขณะเดียวกันก็พบเห็นรถฉุกเฉินหลายคันถูกส่งมายังจุดผ่านแดนดังกล่าว
ตามหลังเหตุปะทะดังกล่าว ทางเซอร์เบียไปยื่นประท้วงฮังการีอย่างเป็นทางการในวันพุธ (16 ก.ย.) และบอกว่าจะส่งตำรวจไปยังแนวชายแดนระหว่างสองประเทศเพิ่มเติม หลังความตึงเครียดระหว่างผู้อพยพกับตำรวจฮังการีพุ่งสูง
สหประชาชาติวิงวอนหลายต่อหลายรอบร้องขอเหล่าผู้นำยุโรปยึดมั่นสิทธิมนุษยชนและร่วมมือกันรับมือกับวิกฤตผู้อพยพครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
วิกฤตผู้อพยพยุโรปถูกคาดหมายว่าจะเป็นประเด็นสำคัญของที่ประชุมเหล่าผู้นำโลกที่สหประชาชาติในปีนี้ ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 25 กันยายน ขณะที่นายบัน เรียกร้องให้มีการหารือรอบนอกที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในวันที่ 30 กันยายน เพื่อยกระดับการตอบสนองของนานาชาติต่อวิกฤตนี้
นายบันยังกล่าวยกย่องเลบานอน จอร์แดนและตุรกี ต่อกรณีอ้าแขนรับผู้อพยพหลายล้านคนจากสงครามในซีเรีย ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว นอกจากนี้แล้วเขายังอ้างถึงเยอรมนี สวีเดน และออสเตรีย ที่เปิดประตูแก่ผู้ลี้ภัยและแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมถึงชื่นชมอังกฤษและคูเวตที่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อจัดการกับวิกฤตลี้ภัย อย่างไรก็ตาม เขาบอกอย่างชัดเจนว่ายังมีประเทศยุโรปอื่นๆ ที่ขาดการตอบสนอง