xs
xsm
sm
md
lg

รมต.มหาดไทย EU นัดหารือรอบใหม่ หวังฝ่าทางตันแบ่งโควตาผู้อพยพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เหล่าผู้อพยพเดินเรียบเคียงไปตามแนวรั้วกั้นชายแดนระหว่างเซอร์เบียและฮังการี ท่ามกลางการจับตามองของตำรวจฮังการี ขณะที่ข้อตกลงเชงเกนระส่ำ เมื่อหลายประเทศเดินตามรอยเยอรมนี ตั้งด่านตรวจเข้มสกัดผู้อพยพทะลักผ่านชายแดน โดยเฉพาะฮังการีที่เริ่มใช้กฎเหล็กลงโทษผู้ลักลอบเข้าเมือง
เอเอฟพี/รอยเตอร์ - เหล่ารัฐมนตรีมหาดไทยของสหภาพยุโรปจะนัดประชุมฉุกเฉินรอบใหม่เกี่ยวกับวิกฤตผู้อพยพของอียูในวันที่ 22 กันยายน เจ้าหน้าที่แถลงในวันอังคาร (15 ก.ย.) หนึ่งวันหลังจากทางกลุ่มเพิ่งล้มเหลวในความพยายามฝ่าทางตันแบ่งบันภาระความรับผิดชอบมอบที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยหลายแสนคน

ฌอง อัสเซลบอร์น รัฐมนตรีต่างประเทศลักเซมเบิร์ก ชาติประธานหมุนเวียนอียู ณ ปัจจุบัน บอกว่าการประชุมนัดพิเศษนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้เหล่ารัฐมนตรีมหาดไทยเห็นชอบแผนจัดสรรโควต้าผู้ประสงค์ขอลี้ภัย ที่เวลานี้อยู่ในกรีซ ฮังการี และอิตาลี ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากหลายชาติ

การประชุมเหล่ารัฐมนตรีมหาดไทยอียูเมื่อวันจันทร์ (14 ก.ย.) ล้มเหลวในความพยายามฝ่าทางตัน เกี่ยวกับการแบ่งปันภาระความรับผิดชอบมอบที่พักพิงแก่ผู้อพยพบางส่วนจากทั้งหมดหลายแสนคนที่ต้องการลี้ภัยในยุโรปในปีนี้ ส่งผลให้รูปร่างของข้อตกลงขั้นสุดท้ายตกอยู่ท่ามกลางความสงสัย

ทั้งนี้แม้พวกเขานัดกลับมาหารือกันที่บรัสเซลส์อีกรอบในวันอังคารหน้า (22 ก.ย.) แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าท้ายที่สุดแล้ว ผลสรุปจะออกมาอย่างไร

ความล้มเหลวของพวกเขาเมื่อวันจันทร์ (14 ก.ย.) ทำให้นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เรียกร้องในตอนเช้าวันอังคาร ขอให้เปิดประชุมซัมมิตฉุกเฉินเหล่าผู้นำอียูในสัปดาห์หน้า ขณะที่นายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป บอกว่าเขากำลังปรึกษากับเหล่าผู้นำยุโรปคนอื่นๆ และจะแถลงถึงผลการตัดสินใจในวันพฤหัสบดีว่าจะนัดประชุมซัมมิทพิเศษหรือไม่

นางแมร์เคิลยังได้เรียกร้องขอความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของยุโรป หลังมีปฏิกิริยาโกรธเคืองมาจากชาติอื่นๆ ต่อกรณีที่หนึ่งในคณะรัฐมนตรีของเธอขู่ว่ารัฐไหนที่ไม่ยอมแบ่งปันผู้ลี้ภัยอาจถูกลงโทษทางการเงิน

ข้อเสนอของ โทมัส เดอ ไมเซียร์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเยอรมนี ถูกปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวโดยสาธารณรัฐเช็ก และสโลวาเกีย ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติยุโรปตะวันออกที่ต่อต้านแผนแย่งโควต้าผู้อพยพของอียู

ต่อมานางแมร์เคิลใช้สุ้มเสียงที่มีความเป็นมิตรกว่า ร้องขอยุโรปร่วมมือกันในประเด็นผู้ลี้ภัย “ฉันคิดว่าเราจำเป็นต้องสร้างจิตวิญญาณแห่งยุโรปอีกครั้ง ฉันไม่คิดว่าคำขู่จะเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การบรรลุข้อตกลง” เธอกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น