รอยเตอร์ – รัฐบาลเวียนนาแถลงวันนี้(28 มี.ค)จะพยายามหาทางให้ออสเตรียไม่ต้องรับผู้อพยพตามโควตาของสหภาพยุโรปกำหนด โดยอ้างว่า ออสเตรียได้แบกรับสัดส่วนผู้อพยพจำนวนมากไว้แล้วตั้งแต่ช่วงแรกของวิกฤตผู้อพยพลี้ภัยหนีเข้ายุโรป
รอยเตอร์รายงานวันนี้(28 มี.ค)ว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่ออกจากรัฐบาลออสเตรียอาจจะกลายเป็นระเบิดเวลารอบใหม่ต่อระบบโควตาแบ่งปันผู้อพยพบรัสเซลส์ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า สามารถทำตามข้อกำหนดได้เพียงเสี้ยวหนึ่งของจำนวนทั้งหมดที่ทางสหภาพยุโรปได้ตั้งไว้
โดยรอยเตอร์ชี้ว่า สาเหตุที่ระบบโควตาสัดส่วนกระจายผู้อพยพของอียูไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะได้รับการต่อต้านจากกลุ่มชาติสมาชิกจากยุโรปตะวันออก ที่รวมไปถึง โปแลนด์ และฮังการี
และนอกจากนี้ ยังถือเป็นเรื่องบังเอิญที่มาตรการทางความมั่นคงและการเข้าเมืองออสเตรียนั้น ถูกทำให้มีความเข้มงวดมากขึ้นจากรัฐบาลกลางผสมของออสเตรีย ซึ่งออสเตรียถือเป็นประเทศที่เห็นคลื่นผู้อพยพไหลเข้าประเทศตั้งแต่ปี 2015 และส่งผลต่อการสนับสนุนความนิยมในพรรคขวาจัดฟรีดอมปาร์ตีของออสเตรีย ที่มีเสียงความนิยมนำในโพลการสำรวจ
ด้านนายกรัฐมนตรีออสเตรีย คริสเตียน เคิร์น (Christian Kern) ได้แถลงกับผู้สื่อข่าวหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ในวันนี้(28 มี.ค)ว่า “ทางเราเชื่อมั่นว่า ข้อยกเว้นสำหรับเวียนนาเป็นเรื่องจำเป็น เพราะประเทศของเราได้กระทำในสิ่งที่ต้องทำตามหน้าที่ไปแล้ว และทางเราจะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับคณะกรรมาธิการยุโรป”
และเคิร์นกล่าวต่อว่า “ทางเราจะส่งจดหมายไปให้เร็วที่สุด ก่อนเริ่มต้นการหารือ”
รอยเตอร์รายงานว่า ผู้อพยพที่ต้องการขอสถานภาพลี้ภัยจำนวนน้อยกว่า 45,000 คนถูกย้ายออกมาจากกรีซและอิตาลี ซึ่งเป็น 2 ประเทศแรกที่บรรดาผู้อพยพจากทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลางใช้เป็นปากทางเพื่อเข้าสู่ยุโรปชั้นใน ภายใต้แผน 2 ปีของทางอียู ที่มีเป้าหมายครอบคลุมผู้อพยพจำนวน 160,000 คน ที่จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายนนี้
ในแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีออสเตรีย ยังระบุต่อว่า “ทางเรามีความเห็นว่า ...กลุ่มคนที่เป็นคำถามในที่นี่ได้ร้องขอการลี้ภัย หรือเดินทางไปถึงอิตาลี หรือกรีซแล้ว” และชี้ต่อว่า “ทางออสเตรียยังต้องทำการตรวจสอบว่า ออสเตรียได้ทำตามโควตาอียูที่ได้ระบุแล้วหรือไม่ เพื่อที่จะปลดเปลื้องตัวเองต่อภาระหน้าที่นี้”
ทั้งนี้พบว่า ออสเตรียได้รับผู้อพยพจำนวนราว 90,000 คนในปี 2015 ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่า 1% ของจำนวนประชากรของตัวเอง โดยพบว่ามีจำนวนผู้ลี้ภัยมากกว่า 1 ล้านคนเดินทางเข้าสู่เยอรมันในปีนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ออสเตรียเป็นทางผ่านเข้าสู่แดนเมืองเบียร์ หลังจากข้ามบัลข่านส์ (Balkans )จากกรีซ
และพบว่าที่ผ่านมา ออสเตรียออกมาเรียกร้องให้ประเทศอื่นๆในยุโรปยินยอมที่จะแบ่งสัดส่วนผู้อพยพอย่างยุติธรรม และทางเวียนนาถึงกับสนับสนุนแนวคิดมาตรการลงโทษทางการเงินต่อประเทศสมาชิกอียูที่ไม่ยอมทำตาม
ซึ่งในอดีตทางอียูได้ยอมผ่อนปรนให้ข้อยกเว้นต่อออสเตรีย จากการที่ออสเตรียต้องแบกรับผู้อพยพจำนวนมากไว้ แต่ข้อยกเว้นนี้ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว รอยเตอร์รายงาน
โดยนาตาชา เบอร์ท็อด(Natasha Bertaud)โฆษกหญิงคณะกรรมาธิการยุโรปได้กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า “ในขณะนี้ออสเตรียถูกคาดหวังว่า ต้องเริ่มต้นรับผิดชอบในการตอบรับการโยกย้ายของผู้อพยพ”
รอยเตอร์ชี้ว่า ทางรัฐบาลเวียนนาต้องการบั่นทอนความนิยมของพรรคฟรีดอมปาร์ตี คู่แข่ง ด้วยการออกมาตรการและกฎหมายเกี่ยวกับผู้อพยพที่แข็งกร้าว โดยกฎหมายการรวมตัวของออสเตรีย(integration bill)ที่ได้รับการอนุมัติในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีออสเตรียในวันอังคาร(28 มี.ค)นั้นระบุให้ แบนผ้าคลุมศรีษะในที่สาธารณะ พร้อมยังกำหนดให้กับผู้อพยพเข้าเมืองที่ไม่มีงานทำต้องมีหน้าที่ ทำงานเพื่อสาธารณะ โดยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน นอกเหนือไปจากการรับค่าตอบแทสวัสดิการตามปกติ