xs
xsm
sm
md
lg

โควตาผู้ลี้ภัยอียูล่ม -“เชงเกน” ระส่ำ หลายประเทศฟื้นด่านตรวจคนข้ามแดน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้อพยพจำนวนมากต้องปักหลักรอกันอยู่แถวชายแดนเซอร์เบียในวันอังคาร (15 ก.ย.) เนื่องจากฮังการีได้ปิดจุดผ่านแดน พร้อมกับเริ่มใช้กฎเหล็กลงโทษผู้ลักลอบเข้าเมือง
เอเอฟพี - รัฐมนตรีมหาดไทยอียูคว้าน้ำเหลว แผนจัดสรรความรับผิดชอบผู้อพยพล่ม ขณะที่ข้อตกลงเชงเกนระส่ำ เมื่อหลายประเทศเดินตามรอยเยอรมนี ตั้งด่านตรวจเข้มสกัดผู้อพยพทะลักผ่านชายแดน ฮังการีเริ่มใช้กฎเหล็กลงโทษผู้ลักลอบเข้าเมือง

เมื่อบ่ายวันจันทร์ (14) ตำรวจฮังการีปิดจุดข้ามแดนไม่เป็นทางการระยะ 40 เมตร ซึ่งเป็นทางรถไฟที่มีรั้วลวดหนามกั้น และนำผู้อพยพไปยังจุดข้ามแดนอย่างเป็นทางการที่อยู่ใกล้กัน แต่เมื่อถึงเช้าวันอังคาร (15) ฮังการีกลับปิดจุดข้ามแดนอย่างเป็นทางการดังกล่าว ปล่อยให้ผู้อพยพหลายร้อยคนเข้าคิวคอยเก้อ ไม่อาจเข้าสู่ฮังการีได้

การปิดด่านเกิดขึ้นพร้อมกับที่กฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งกำหนดบทลงโทษผู้ที่ลักลอบข้ามแดนเข้าสู่ฮังการีด้วยการจำคุกสูงสุด 3 ปี นอกจากนั้น ฮังการีที่ประสบปัญหาผู้อพยพทะลักเข้าประเทศถึง 200,000 คน นับจากต้นปี ยังสร้างรั้วสูง 4 เมตร ตลอดแนวพรมแดน 175 กิโลเมตร ติดกับเซอร์เบีย ซึ่งไม่ใช่เพื่อนสมาชิกในสหภาพยุโรป (อียู)

ฮังการีนั้นเป็นจุดเชื่อมต่อที่ผู้อพยพจากทางตะวันตกของบอลข่านใช้เป็นทางผ่านเข้าสู่ยุโรปชั้นใน โดยส่วนใหญ่มุ่งตรงผ่านออสเตรียไปยังเยอรมนี ซึ่งเมื่อวันจันทร์ รองนายกรัฐมนตรี ซิกมาร์ เกเบรียล ระบุว่า มีสัญญาณชัดเจนว่า อาจมีผู้ลี้ภัยเดินทางเข้าสู่เยอรมนีในปีนี้ถึง 1 ล้านคน ไม่ใช่แค่ 800,000 คนอย่างที่กระทรวงมหาดไทยคาดไว้ก่อนหน้านี้

วันเดียวกันนั้น ออสเตรีย เผยว่า มีผู้อพยพทะลักเข้าประเทศถึง 20,000 คน ขณะที่ตำรวจฮังการีเผยสถิติสูงสุดใหม่ของผู้อพยพที่หลั่งไหลข้ามแดนคือ 9,380 คน

ออสเตรีย และสโลวาเกีย ประกาศเมื่อวันจันทร์ ว่า จะเลียนแบบเยอรมนี มหาอำนาจในกลุ่มที่เป็นจุดหมายปลายทางหลักของผู้อพยพ ที่จะกลับมาใช้การควบคุมพรมแดน

มาตรการดังกล่าวของเมืองเบียร์ส่งผลให้การจราจรบริเวณพรมแดนเยอรมนี - ออสเตรีย ติดขัดอย่างหนัก รวมทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการเดินรถไฟ
ผู้อพยพจำนวนมากต้องปักหลักรอกันอยู่แถวชายแดนเซอร์เบียในวันอังคาร (15 ก.ย.) เนื่องจากฮังการีได้ปิดจุดผ่านแดน พร้อมกับเริ่มใช้กฎเหล็กลงโทษผู้ลักลอบเข้าเมือง
ขณะเดียวกัน โปแลนด์ เผยว่า กำลังพิจารณาใช้มาตรการนี้เช่นกัน และเนเธอร์แลนด์เตรียมเพิ่มกำลังลาดตระเวนแนวพรมแดน

ทั้งนี้ ชาติสมาชิกอียูสามารถควบคุมด่านชายแดนชั่วคราวเพื่อเหตุผลด้านความมั่นคงภายใต้ข้อตกลงเชงเกน ทว่า ขณะนี้เริ่มมีความกังวลมากขึ้นว่า ระบบยุโรปไร้พรมแดนนี้อาจถึงคราวล่มสลาย

นอกจากนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีมหาดไทยอียูเมื่อวันจันทร์ยังไม่สามารถบรรลุฉันทามติเกี่ยวกับแผนแบ่งปันความรับผิดชอบอย่างเท่าเทียมต่อผู้อพยพ 120,000 คน เพื่อผ่อนคลายภาระของประเทศแนวหน้า ได้แก่ ฮังการี กรีซ และอิตาลี ที่เป็นด่านแรกในการรองรับคลื่นมหาชนที่หนีสงครามมาจากซีเรีย และอัฟกานิสถาน

อย่างไรก็ตาม ดิมิทริส อัฟราโมปูลอส กรรมาธิการด้านการย้ายถิ่นของอียู คาดหวังว่า จะบรรลุข้อตกลงได้ในเดือนหน้า

แต่ปัญหาก็คือ วิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดนับจากปี 1945 มีพัฒนาการเร็วกว่าที่ 28 ชาติอียูจะตั้งตัวทัน เฉพาะปีนี้มีผู้อพยพข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสู่ยุโรปแล้วกว่า 430,000 คน และ 2,748 คนในจำนวนนี้เสียชีวิตหรือสูญหาย ที่สำคัญคือ ยังมีผู้อพยพอีกมากมายหลั่งไหลสู่ยุโรปเพิ่มขึ้นทุกวัน

องค์กรนิรโทษกรรมสากลวิจารณ์ว่า รัฐมนตรีอียูล้มเหลวอีกครั้งในการแสดงความเป็นผู้นำร่วมกันเพื่อจัดการกับวิกฤตผู้อพยพระดับโลก

ในวันอังคาร เบอร์ลินเพิ่มความกดดันด้วยการประกาศว่า อียูอาจตัดความช่วยเหลือชาติสมาชิกที่ไม่ยอมร่วมรับผิดชอบผู้อพยพ โดยประเทศที่คัดค้านแผนการจัดสรรโควตารองรับผู้อพยพที่คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วและส่งให้ที่ประชุมรัฐมนตรีมหาดไทยอียูโหวตเมื่อวันจันทร์คือ ฮังการี สาธารณรัฐเช็ค สโลวาเกีย และโรมาเนีย

ภายหลังการประชุม รัฐมนตรีมหาดไทยสโลวาเกีย โรเบิร์ต คาลินัค กล่าวว่า ผู้นำอียูควรจัดประชุมพิเศษเพื่อหารือทางออกสำหรับวิกฤตผู้อพยพ

กระนั้น ในการประชุมเมื่อวันจันทร์ รัฐมนตรีอียูอนุมัติแผนการที่เสนอครั้งแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในการหาที่ตั้งถิ่นฐานให้แก่ผู้ลี้ภัย 40,000 คน รวมทั้งอนุมัติแผนปฏิบัติการทางทหารเพื่อกวาดล้างผู้ลักลอบขนผู้อพยพข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ยึด และทำลายเรือของผู้ลักลอบเหล่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น