เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่ด้านการทูตระบุเมื่อวันพุธ (9 ก.ย.) ว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำลังพิจารณาเรื่องที่จะยอมให้ทัพเรือยุโรปสามารถตรวจค้นเรือในทะเล อันเป็นความพยายามที่จะรับมือกับการลักลอบเดินทางของผู้อพยพ
เจ้าหน้าที่ด้านการทูตระบุว่า ร่างมติคณะมนตรีความมั่นคงในครั้งนี้ที่เน้นไปยังบรรดาเรือที่เดินทางออกจากลิเบีย กำลังถูกส่งต่อหมุนเวียนไปในหมู่ 5 ชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีฯ รวมถึงชาติยุโรปรายอื่นที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังไม่ได้กระจายถึงมือสมาชิกถาวรหมดทั้ง 15 ชาติ
วิตาลี ชูร์คิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็น ผู้เป็นประธานคณะมนตรีในเดือนนี้ เปิดเผยว่า มติอาจจะเริ่มใช้ในเดือนกันยายนนี้ ส่วนทูตรายอื่นๆ นั้นคาดหวังว่ามตินี้น่าจะใช้ได้ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ก่อนที่จะมีการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในช่วงปลายเดือนกันยายน
ชูร์คิน กล่าวถึงร่างมติในครั้งนี้ที่ถูกผลักดันโดยอังกฤษว่า มีการจำกัดในเรื่องต่างๆ มากกว่าร่างมติครั้งก่อน ที่ยอมให้ทัพเรือของชาติสมาชิกอียูสามารถจัดการกับพวกลักลอบขนผู้อพยพในน่านน้ำลิเบีย
ร่างมติฉบับนั้นไม่ได้เกิดเพราะมันต้องได้รับการอนุมัติของลิเบีย ประเทศที่มีความวุ่นวายทางการเมือง แถมรัฐบาลที่นานาชาติรับรองยังไม่สามารถควบคุมพื้นที่แถบชายฝั่ง
ร่างมติฉบับใหม่นี้จะทำให้เจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือยุโรปสามารถขึ้นเรือต้องสงสัยและทำการตรวจค้น หากพบผู้อพยพบนเรือ พวกเขาจะให้การเยียวยาช่วยเหลือเบื้องต้น แล้วส่งต่อไปยังอิตาลี ซึ่งที่นั่นผู้อพยพจะได้ลี้ภัย ส่วนเรือจะถูกยึดและทำลายหรือรื้อถอน รวมถึงมีการลงโทษตามกฏหมายต่อพวกลักลอบขนผู้อพยพ
เจ้าหน้าที่การทูตรายหนึ่งเปิดเผยว่า ชาติสมาชิกอียูแต่ละรายจะได้รับสิทธิดำเนินการในระดับที่แตกต่างกันไปในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อย่างเช่นอิตาลีจะสามารถดำเนินการในพื้นที่แถบนั้นได้มากกว่าอังกฤษกับเยอรมัน
เลขาธิการใหญ่ บัน คีมูน ได้จัดให้มีการประชุมระดับสูงเรื่องผู้อพยพ ช่วงนอกรอบการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในวันที่ 30 กันยายน ซึ่งเขาได้เชื้อเชิญบรรดาผู้นำยุโรปเมื่อวันอังคาร