xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสูงปากีสถานตัดสินให้ใช้ “ภาษาอูรดู” เป็นภาษาราชการเดี่ยว ระบุภาษาอังกฤษเป็นภาษาของ “พวกล่าอาณานิคม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ศาลสูงปากีสถานมีคำตัดสินในวันอังคาร (8 ก.ย.) ให้หน่วยงานทุกแห่งของรัฐบาลกลาง ตลอดจนรัฐบาลท้องถิ่นของแคว้นต่างๆ ทั่วประเทศ ใช้ “ภาษาอูรดู” เป็นภาษาราชการเพียงภาษาเดียว

เนื้อหาส่วนหนึ่งจากคำตัดสินล่าสุดของศาลสูงปากีสถานระบุว่า หน่วยงานทุกแห่งของรัฐบาลปากีสถานทั้งในส่วนของรัฐบาลกลางที่กรุงอิสลามาบัด และรัฐบาลท้องถิ่นของแคว้นและเขตปกครองต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ภาษาที่มากับลัทธิล่าอาณานิคม (หมายถึงภาษาอังกฤษ) เป็นภาษาราชการอีกต่อไป เนื่องจากเป็นภาษาที่สาธารณชนปากีสถานจำนวนมากไม่สามารถเข้าใจได้ และว่านับจากนี้เจ้าหน้าที่รัฐบาลปากีสถานทุกคนต้องใช้งานภาษาอูรดูเป็นภาษาราชการเพียงภาษาเดียวในกระบวนการปฏิบัติงานทุกอย่าง ซึ่งรวมถึงการออกหนังสือระหว่างหน่วยงาน หรือการออกประกาศใดๆ

รายงานข่าวระบุว่า หลังทราบคำตัดสินของศาลสูงปากีสถาน หน่วยงานทั่วประเทศที่อยู่ในสังกัดรัฐบาลจะต้องเร่งแปลกฎระเบียบข้อบังคับทางราชการ ตลอดจนนโยบายต่างๆ ในส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษ ให้กลายเป็นภาษาอูรดูทั้งหมดภายในระยะเวลา 3 เดือนข้างหน้า

ขณะเดียวกัน แบบฟอร์มสำหรับให้บริการประชาชนในเรื่องต่างๆ ตลอดจนป้ายสัญลักษณ์และเอกสารตามศาล สถานีตำรวจ โรงพยาบาล สวนสาธารณะ ธนาคารและสถาบันการศึกษา ก็จะต้องมีการเพิ่มเติมเนื้อหาที่เป็นภาษาอูรดูเข้าไปด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ

ด้านแหล่งข่าวในศาลสูงของปากีสถานออกมาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า นับจากนี้เป็นต้นไปการออกหนังสือเดินทาง ใบอนญาตขับขี่ และใบเสร็จค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ก็จะต้องดำเนินการออกเป็นภาษาอูรดูทั้งสิ้น แต่เอกสารเดิมซึ่งเป็นภาษาอังกฤษและยังไม่หมดอายุก็ยังคงสามารถใช้ได้ต่อไปจนถึงกำหนดหมดอายุที่ระบุไว้

ทั้งนี้ ข้อมูลขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ระบุว่า นอกจากภาษาอูรดูจะถูกกำหนดให้เป็นภาษาราชการของปากีสถานแล้ว ภาษาดังกล่าวยังถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 22 ภาษาทางการที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของอินเดียด้วยเช่นกัน โดยในขณะนี้มีจำนวนผู้ใช้ภาษาอูรดูเป็นภาษาหลักในชีวิตประจำวันราว 65 ล้านคนทั่วโลก และมีผู้ใช้ภาษาอูรดูเป็น “ภาษาที่ 2” สูงถึง 94 ล้านคน