xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’หรือ ‘เฟด’ ใครกันแน่ควรถูกประณามว่าทำให้ตลาดหุ้นปั่นป่วนผันผวน?

เผยแพร่:   โดย: เอเชียอันเฮดจ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Who’s really to blame? China or the Fed?
By Asia Unhedged
27/08/2015

สัปดาห์ที่แล้ว ตลาดทั่วโลกพากันตกฮวบในวันจันทร์ (24 ส.ค.) หลังจากตลาดหลักทรัพย์ของจีนดำดิ่ง 8.5% แต่เมื่อวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ออกมาพูดในวันพุธ (26 ส.ค.) บ่งบอกถึงความกังวลที่ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก และดังนั้นจึง “ดูเหมือนกำลังมีความจำเป็นลดน้อยลง” ที่เฟดจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย ปรากฏว่าคำพูดของเขาได้ส่งผลให้หุ้นสหรัฐฯสามารถยุติการไหลรูดที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 วัน แล้วยังพลอยทำให้ตลาดหุ้นจีนกระเด้งฟื้นตัวขึ้นอีกด้วย

เพราะฉะนั้น ใครกันควรถูกประณามว่าเป็นตัวการใหญ่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปั่นป่วนวุ่นวายหนักในสัปดาห์ที่ผ่านมา? จีน หรือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (US Federal Reserve Bank หรือ เฟด)?

นี่ไม่ใช่คำถามที่ตั้งขึ้นมาเล่นๆ นะครับ

นักวิจัยผู้หนึ่งของแบงก์ชาติจีน ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน” (People’s Bank of China ใช้อักษรย่อว่า PBOC) ได้ออกมาประณามว่า จากการที่มีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่าเฟดเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯในเดือนหน้า (กันยายน 2015) นั่นเอง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดทั่วโลกเกิดความปั่นป่วนผันผวนในเวลานี้ สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนรายงานเอาไว้เช่นนี้ในวันอังคาร (25 ส.ค.) (ดูรายละเอียดของข่าวนี้ได้ที่ http://www.reuters.com/article/2015/08/25/us-markets-global-pboc-fed-idUSKCN0QU2C020150825)

แน่นอนทีเดียว ฟังดูไร้เหตุผล และอาจเหมือนกับว่า PBOC แค่อยากจะประณามกล่าวโทษใครสักรายหนึ่งซึ่งอยู่นอกประเทศจีนเท่านั้นแหละ อย่างไรก็ตาม ลองพิจารณาดูอีกสักเที่ยวหนึ่ง เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ครับ ตลาดทั่วโลกพากันตกฮวบในวันจันทร์ (24 ส.ค.) หลังจากตลาดหลักทรัพย์ของจีนดำดิ่ง 8.5%

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อวันพุธ (26 ส.ค.) หุ้นสหรัฐฯสามารถยุติการไหลรูดที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 วัน โดยทั้งดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average) และดัชนี เอสแอนด์พี 500 (S&P 500 Index) ต่างทะยานขึ้นมาเกือบ 4% ดาวโจนส์นั้นพุ่งพรวด 619 จุด มายืนที่ระดับ 16,286 ถือเป็นจำนวนจุดที่เพิ่มขึ้นในรอบวันมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ตลอดกาลทีเดียว และถือว่ามากที่สุดภายหลังวันที่ 28 ตุลาคม 2008 เมื่อตอนที่มันวิ่งทะลุฟ้า 889 จุด

อะไรที่จุดประกายให้เกิดการดีดตัวขึ้นมาในวันพุธ (26 ส.ค.)?

ก้อความเห็นของ วิลเลียม ดัดลีย์ (William Dudley) ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯสาขานิวยอร์ก (Federal Reserve Bank of New York President) ที่บอกว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น “ดูเหมือนมีความจำเป็นลดน้อยลง” [1]

มันอาจจะไม่ถึงกับเป็นคำพูดที่ยืนยันหนักแน่น ทว่า ดัดลีย์ ผู้นี้เป็นรองประธานของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (Federal Open Market Committee) ซึ่งดูแลรับผิดชอบเรื่องอัตราดอกเบี้ย

นอกจากนั้น มันยังดูจะเป็นน้ำอมฤตซึ่งเยียวยารักษาอาการป่วยไข้ของจีนได้ด้วย โดยในวันพฤหัสบดี (27 ส.ค.) วันแรกภายหลังการแสดงความคิดเห็นของ ดัดลีย์ ปรากฏว่าดัชนีหุ้นคอมโพสิตของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Composite Index) กระโจนพรวดขึ้นมา 5.3% อยู่ที่ 3,084 กระเด้งขึ้นเหนือขีด 3,000 ซึ่งมีความสำคัญในการวิเคราะห์ทางเทคนิค หลังจากดัชนีที่เป็นเกณฑ์วัดสำคัญของราคาหุ้นบนแผ่นดินใหญ่จีนตัวนี้ได้ดำดิ่งลงมาถึง 20% ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ทางด้านดัชนีหุ้นคอมโพสิตของตลาดหุ้นเซินเจิ้น (Shenzhen Stock Exchange Composite Index) วันพฤหัสบดี (27 ส.ค.) ก็ฟื้นตัวขึ้น 3.3% จากที่หายไปเยอะในช่วงไม่กี่วันหลังนี้ และยืนอยู่ที่ 1,752 ส่วนดัชนีชิเน็กซ์ ไพรซ์ อินเด็กซ์ (Chinext Price Index) ซึ่งเป็นมาตรวัดราคาหุ้นตัวเล็กๆ ก็ทะยานขึ้น 3.7% อยู่ที่ 1,959 และดัชนีหุ้นหั่งเส็ง (Hang Seng Index) สำหรับราคาหุ้น เอช (H-shares หุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งกิจการบนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งนำมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง -ผู้แปล) ของฮ่องกง ก็ไต่ขึ้น 3.6% อยู่ที่ 21,838

(สำหรับในวันศุกร์ 28 ส.ค. ดัชนีคอมโพสิตของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ยังคงบวกอีก 4.85% ขึ้นมาอยู่ที่ 3,232.35 ขณะที่ตลาดเซินเจิ้นเพิ่มถึง 5.40% อยู่ที่ 1,846.83 ส่วนที่วอลล์สตรีทนั้น ในวันพฤหัสบดี 27 ส.ค. ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์บวกต่ออีก 2.27% หรือ 369.26 จุด และเอสแอนด์พี 500 ก็สูงขึ้น 2.43% แล้วในวันศุกร์ 28 ส.ค. ดาวโจนส์จึงลบลงเล็กน้อย 0.07% หรือ 11.76 จุด ทว่า เอสแอนด์พี 500 ขยับขึ้นอีกนิดหน่อย 0.06% -ผู้แปล)

เมื่อพิจารณาจากแง่มุมของการกล่าวโทษกันไปมาว่าใครเป็นต้นเหตุของใครกันแน่ ความเห็นของ ดัดลีย์ ย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่า เฟดนั้นมีความกังวลว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอาจสร้างความเสียหายให้แก่การเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งนี่ดูจะลดทอนน้ำหนักเหตุผลของการที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ

เอเชียอันเฮดจ์ ก็เหมือนๆ กับพวกนักวิเคราะห์อื่นๆ จำนวนมาก กำลังพร่ำพูดมาได้สักพักใหญ่แล้วว่า ความหวาดกลัวว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนั่นแหละคือตัวการฉุดดึงตลาดหุ้นให้ซวนเซลงตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา อย่างในตอนปิดวันพุธ (26 ส.ค.) ดาวโจนส์อยู่ในระดับต่ำลงมา 11% จากช่วงซึ่งพุ่งไปได้สูงสุดตลอดกาลที่ทำไว้ในเดือนพฤษภาคม ดังนั้น นี่จึงเป็นปรากฏการณ์ของการปรับฐาน และเกิดขึ้นมา ภายหลังที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปเยอะแล้ว

ดังนั้น ตลาดจีนกำลังเดินตามสหรัฐฯ หรือว่าตลาดสหรัฐฯกำลังเดินตามจีนกันแน่? หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลงเนื่องจากการคาดการณ์ถึงการที่สหรัฐฯกำลังจะปรับขึ้นดอกเบี้ยใช่หรือไม่?

ไก่เกิดก่อนไข่ หรือ ไข่เกิดก่อนไก่? แต่กระทั่งว่าเศรษฐกิจจีนกำลังมีแนวโน้มชะลอตัวระยะยาวจริงๆ เราควรที่จะวิตกกังวลขนาดไหนกัน?

เรื่องนี้ น่าจะลองรับฟังทัศนะของ หวัง เจี้ยนหลิน (Wang Jianlin) ประธานของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และการลงทุน “ต้าเหลียน ว่านต๋า” (Dalian Wanda) ดู เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน หวังเพิ่งได้รับการระบุชื่อว่าเป็นบุคคลผู้มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดของจีน ทว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา หวังกลายเป็นผู้ที่ขาดทุนสูญเสียหนักที่สุดจากการปรับฐานซึ่งเกิดขึ้นช่วงหลังๆ นี้ เมื่อวันพฤหัสบดี (27 ส.ค.) หวัง ใช้ชื่อเสียงซึ่งเพิ่งโด่งดังเป็นที่รู้จักกันอย่างเกรียวกราวในวงกว้างของเขา ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ประเทศจีนควรยุติความพยายามที่จะประคองอัตราเติบโตของเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับ 7% - 8% ซึ่งเขาระบุว่าเป็นอัตราเติบโต “แฟนตาซีฝันเฟือง” แล้วหันมายอมรับอัตราเติบโตที่ชะลอลงมา ซึ่ง “ยั่งยืนและปลอดภัย” จะดีกว่า (ดูรายงานข่าวที่พูดถึงความเห็นของเขาได้ที่ http://www.reuters.com/article/2015/08/27/dalian-wanda-china-idUSL4N1122E820150827)

(จากคอลัมน์ Asia Unhedged ในเอเชียไทมส์)

หมายเหตุผู้แปล

[1] การแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ของ วิลเลียม ดัดลีย์ คอลัมน์เอเชียอันเฮดจ์ ได้รายงานเอาไว้ดังนี้:

เจ้าหน้าที่คนสำคัญของ ‘เฟด’ระบุ ‘จำเป็นน้อยลง’แล้วที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ย
โดย เอเชียอันเฮดจ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Fed’s Dudley says rate hike ‘less compelling’
By Asia Unhedged
26/08/2015

วิลเลียม ดัดลีย์ ประธานของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ออกมาแถลงในวันพุธ (26 ส.ค.) ว่า ลู่ทางโอกาสที่เฟดจะขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนนี้ “ดูเหมือนมีความจำเป็นลดน้อยลง” กว่าเมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน (ดูรายละเอียดของข่าวนี้ได้ที่http://www.reuters.com/article/2015/08/26/us-usa-fed-dudley-idUSKCN0QV1ND20150826)

ดัดลีย์ ถูกมองว่าเป็นมิตรสนิทของ เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ แถมตัวเขาเองยังเป็นรองประธานของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (Federal Open Market Committee หรือ FOMC) ซึ่งทำหน้าที่ตัดสินนโยบายการเงินของเฟด คณะกรรมการชุดนี้ มีกำหนดจัดการประชุมครั้งต่อไปในระหว่างวันที่ 16-17 กันยายน

การออกมาแสดงความเห็นของ ดัดลีย์ คราวนี้ ถือเป็นการบ่งบอกครั้งแรกว่าเฟดมีความวิตกว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน อาจสร้างความเสียหายให้แก่การเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเป็นการบั่นทอนลดน้ำหนักเหตุผลสำหรับการที่เฟดจะขยับขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้เป็นเวลาหลายเดือนมาแล้ว ธนาคารกลางสหรัฐฯแสดงท่าทีเรื่อยมาว่ากำลังจะเริ่มขยับขึ้นดอกเบี้ยกันอีกครั้งในการประชุม FOMC เดือนกันยายนนี้แหละ ทว่าแผนการดังกล่าวดูเหมือนถูกนำมาประเมินกันใหม่อีกครั้ง ภายหลังตลาดหุ้นทั่วโลกพากันดิ่งเหวในวันจันทร์ (24 ส.ค.)

“สำหรับผมแล้ว ในขณะนี้ การตัดสินใจที่จะเริ่มต้นกระบวนการกลับคืนสู่ภาวะปกติ ในการประชุม FOMC เดือนกันยายนนี้ ดูเหมือนจะมีความจำเป็นลดน้อยลงไปกว่าช่วงสองสามสัปดาห์ก่อนหน้านี้” ดัดลีย์ แถลงต่อผู้สื่อข่าวที่สำนักงานของเฟดสาขานิวยอร์ก

กระนั้น ดัดลีย์ ยังคงห่างไกลจากการพูดยืนยันออกมาอย่างชัดเจน อีกทั้งยังคงเปิดช่องเอาไว้สำหรับความเป็นไปได้ที่ว่า ถ้าหากสถานการณ์กลับมีเสถียรภาพขึ้นมาแล้ว เราก็ยังอาจจะได้เห็นการขยับขึ้นดอกเบี้ย

การขึ้นดอกเบี้ย “อาจจะกลับมีความจำเป็นเพิ่มมากขึ้น เมื่อถึงเวลาที่มีการประชุมกัน โดยที่ถึงตอนนั้นเราจะได้ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมในเรื่องที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังอยู่ในภาวะเช่นใด ตลอดจนพัฒนาการต่างๆ ของตลาดการเงินระหว่างประเทศด้วย ทั้งหมดเหล่านี้ต่างก็มีความสำคัญต่อมุมมองในเรื่องทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯทั้งนั้น” เขากล่าว

ดัดลีย์ แจงว่า การตัดสินใจในขั้นสุดท้ายของ FOMC นั้น จะพิจารณาทั้งความเป็นไปของตลาดในระยะไม่กี่สัปดาห์จากนี้ไป ตลอดจนข้อมูลทางเศรษฐกิจที่จะออกมาในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้

(จากคอลัมน์ Asia Unhedged ในเอเชียไทมส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น