เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผลการศึกษาชิ้นล่าสุด โดยทีมงานนักวิจัยในสหรัฐอเมริกา พบข้อมูลที่ระบุ บรรดา “ทหารผ่านศึกชาวอเมริกัน” ที่เคยผ่านการสู้รบในสมรภูมิที่อิรักและอัฟกานิสถาน มีอัตราเสี่ยงเพิ่มมากยิ่งขึ้น ที่จะป่วยเป็นโรค “มะเร็งผิวหนัง” จากการที่ต้องปฏิบัติภารกิจส่วนใหญ่ อยู่ท่ามกลางทะเลทรายที่มีมีแสงแดดแผดเผานานหลายชั่วโมงในแต่ละวัน
ทีมนักวิจัยซึ่งนำโดย ดร. เจนนิเฟอร์ พาวเวอร์ส จากศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ในเมืองแนชวิลล์ ระบุว่า กลุ่มทหารผ่านศึกชาวอเมริกันที่เคยผ่านภารกิจในสมรภูมิที่อิรักและอัฟกานิสถาน ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ผิวหนังเพิ่มสูงขึ้น จากการที่อดีตทหารหาญเหล่านี้ต้องปฏิบัติภารกิจท่ามกลางแสงแดดกลางทะเลทรายในประเทศทั้งสอง เป็นเวลานานวันละหลายชั่วโมงต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันทีมวิจัยยังพบข้อมูลว่า มีกลุ่มตัวอย่างที่เป็นอดีตทหารผ่านศึกชาวอเมริกันเพียงแค่ 13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ใช้อุปกรณ์ป้องกันแสงแดดในรูปแบบต่างๆเป็นประจำระหว่างที่ตนปฏิบัติหน้าที่ในอิรักและอัฟกานิสถาน จากจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 212 ราย
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คือ 87 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า พวกตนแทบไม่เคยป้องกันตนเองจากแสงแดดเลย ระหว่างปฏิบัติภารกิจอยู่ในอิรักและอัฟกานิสถาน
ผลการศึกษาของทีมงานจากศูนย์การแพทย์ ของมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ในครั้งนี้ยังพบข้อมูลว่า มีทหารผ่านศึกชาวอเมริกันเพียงไม่ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ถึง 1 ใน 4 ที่ระบุว่า พวกตนได้รับแจ้งจากทางกองทัพถึงอันตรายของการปฏิบัติภารกิจภายใต้แสงแดดและความเสี่ยงของการป่วยเป็นมะเร็งที่ผิวหนัง ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่สอดคล้อง กับผลการวิจัยที่มีการเผยแพร่ก่อนหน้านี้ในวารสาร “ Journal of Investigative Dermatology”
ทั้งนี้ มีข้อมูลว่า ราว 77 เปอร์เซ็นต์ของทหารผ่านศึกอเมริกันต้องปฏิบัติภารกิจกลางแดดนาน 4 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน และมีกำลังพลในกองทัพสหรัฐฯที่ประจำการอยู่ในสมรภูมิต่างแดนมากถึง 63 เปอร์เซ็นต์ ที่เคยมีประวัติการเจ็บป่วยด้วยอาการผิวหนังอักเสบจากการถูกแสงแดดแผดเผาระหว่างปฏิบัติหน้าที่