รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเมืองเฟอร์กูสัน มลรัฐมิสซูรี สหรัฐฯ หลังมีเสียงปืนดังขึ้นหลายสิบนัดและผู้ชุมนุมปะทะกับตำรวจระหว่างการชุมนุมประท้วงครบรอบ 1 ปีคดีอันโด่งดังตำรวจยิงชายผิวดำปราศจากอาวุธเสียชีวิต ขณะเดียวกัน อัยการเมื่อวันจันทร์ (10 ส.ค.) ตั้งข้อหาชายวัย 18 ปีคนหนึ่งฐานทำร้ายเจ้าหน้าที่ท่ามกลางความวุ่นวายดังกล่าว
ชายคนดังกล่าวได้แก่ นายไทรอน แฮร์ริส ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสระหว่างดวลปืนกับตำรวจเมื่อค่ำคืนวันอาทิตย์ (9 ส.ค.) ขณะที่ประชาชนจัดชุมนุมในวาระครบรอบ 1 ปี การเสียชีวิตของนายไมเคิล บราวน์ วัยรุ่นผิวดำที่ถูกตำรวจผิวขาวในเฟอร์กูสัน ย่านชานเมืองเซนต์หลุยส์ ยิงตายเมื่อ 1 ปีก่อน
ตำรวจบอกว่า นายแฮร์ริสกำลังเข้ารับรักษาตัวที่โรงพยาบาล และอัยการเซนต์หลุยส์ เคาน์ตี ตั้งข้อหาชายรายนี้ 4 กระทง ในนั้นรวมถึงฐานประทุษร้ายเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและยิงใส่ยานยนต์ พร้อมตั้งวงเงินประกันที่ 250,000 ดอลลาร์
ความรุนแรงดังกล่าวซึ่งยังรวมถึงการขับรถสาดกระสุนและขว้างปาตำรวจด้วยวัตถุต่างๆ กระตุ้นให้เซนต์หลุยส์ เคาน์ ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน “ตามหลังเหตุความรุนแรงและความไม่สงบในเมืองเฟอร์กูสันเมื่อคืนนี้ และจากความเป็นไปได้ที่จะเป็นอันตรายต่อบุคคลและทรัพย์สิน ผมจึงขอใช้อำนาจในฐานะผู้บริหารเคาน์ตีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีผลบังคับใช้ในทันที” สตีฟ สเตนเจอร์ ผู้บริหารเซนต์หลุยส์ เคาน์ตีระบุในถ้อยแถลง
ในวันจันทร์ (10 ส.ค.) นักเคลื่อนไหวเป็นแกนนำนัดชุมนุมอารยะขัดขืนในมิสซูรี อย่างไรก็ตาม มีผู้ประท้วงหลายคนถูกจับคุมเพราะพยายามกระโดดดข้ามฝ่ารั้วกั้น ณ อาคารศาลแห่งหนึ่งในเซนต์หลุยส์ ทั้งนี้กลุ่มสิทธิพลเรือนเป็นผู้นำขบวนที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน เดินแสดงพลังไปตามท้องถนนสายต่างๆของเมือง พร้อมตะโกนว่า 'ชีวิตคนผิวดำก็มีความหมาย'
ย้อนกลับไปเมื่อค่ำคืนวันอาทิตย์ (10 ส.ค.) ในเฟอร์กูสัน เสียงปืนดังขึ้นหลายนัดในระหว่างที่ตำรวจในชุดปราบจลาจลเข้าสลายผู้ชุมนุมที่กีดขวางการจราจรและทุบทำลายกระจกหน้าร้านค้าตามท้องถนนสายต่างๆที่เคยเป็นจุดล่อแหลมของเหตุจลาจลเมื่อ 1 ปีก่อน ตามหลังนายบราวน์วัย 18 ปีถูกยิงเสียชีวิต
การตายของนายบราวน์และคำพิพากษาของคณะลูกขุนใหญ่ที่ไม่ตั้งข้อหาทางอาญานายตำรวจดาร์เรน วิลสัน กระพือระลอกคลื่นแห่งการประท้วงที่หลายครั้งเลยเถิดกลายเป็นเหตุจลาจลและปล้นสะดม รวมถึงการเดินขบวนแสดงความเห็นอกเห็นใจทั่วสหรัฐฯ
นอกจากนี้แล้วการตายของนายบราวน์ยังกระพือการใคร่ครวญอย่างละเอียดเกี่ยวกับมีความอคติต่อผิววีในระบบยุติธรรมของสหรัฐฯ ขณะที่ขบวนเคลื่อนไหว “ชีวิตคนผิวดำก็มีความหมาย” ก็แผ่ลามในวงกว้างมากขึ้น จากการสังหารผู้ต้องสงสัยชนกลุ่มน้อยที่ไม่มีอาวุธโดยตำรวจผิวขาวในเมืองต่างๆ อย่างเช่นนิวยอร์ก บัลติมอร์ ลอสแองเจลิส ซินซินเนติและเมื่อเร็วๆนี้ใน อาร์ลิงตัน มลรัฐเทกซัส