เอเอฟพี - เหล่าผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคในฝรั่งเศสจะเริ่มดำเนินการตรวจสอบในวันพุธ (5 ส.ค.) ว่าชิ้นส่วนเครื่องบินที่ถูกซัดเกยตื้นชายฝั่งเรอูนิยง เป็นของเที่ยวบิน MH370 ที่สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยหรือไม่ เพิ่มความหวังจะได้เบาะแสอะไรบางอย่างของหนึ่งในเหตุลี้ลับทางการบินครั้งพิศวงที่สุดของโลก
เครื่องบินโบอิ้ง 777 พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 239 คน สูญหายไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 มีนาคม หลังหันเหเส้นทางการบินที่จนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถอธิบายได้ ระหว่างเดินทางจากกัวลาลัมเปอร์สู่กรุงปักกิ่ง กระตุ้นให้นานาชาติปฏิบัติการค้นหาขนานใหญ่ แต่สุดท้ายก็ต้องพบกับความล้มเหลว
อย่างไรก็ตาม การค้นพบชิ้นส่วนปีกที่เรียกกันว่า แฟลปเพอรอน บนเกาะเรอูนิยง อาณานิคมของฝรั่งเศสในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันพุธที่แล้ว (29 ก.ค.) ได้กระพือความหวังรอบใหม่แก่เหล่าญาติๆที่ตะเกียกตะกายค้นหาคำตอบ
ชิ้นส่วนดังกล่าวถูกนำไปยังเมืองตูลูส ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส สถานที่ที่มันจะถูกตรวจสอบอย่างละเอียด โดยแหล่งข่าวแดนน้ำหอมที่ใกล้ชิดกับกรณีเผยว่าจะเริ่มมีการตรวจสอบชิ้นส่วนปีกนี้ในตอนบ่ายวันพุธ (5 ส.ค.) ต่อหน้าเหล่าคณะผู้เชี่ยวชาญของทั้งฝรั่งเศสและมาเลเซีย รวมถึงเจ้าหน้าที่ของโบอิ้งและตัวแทนจากจีน ด้วยที่ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นชาวจีน อย่างไรก็ตามยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจะมีการแถลงผลสรุปการตรวจสอบในวันเดียวกันนั้นเลยหรือจะเป็นวันหลัง
ฌอง-ปอล โทรอาเด็ก อดีตผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนของฝรั่งเศส บอกว่าการวิเคราะห์จะพุ่งเป้าไปที่ 2 ประเด็น นั่นคือแฟลปเพอรอนเป็นของ MH370 หรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนของสี ที่อาจระบุว่ามันเป็นสีที่ใช้โดยสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์สหรือไม่ และถ้าเป็นชิ้นส่วนของ MH370 จริง มันจะสามารถคลี่คลายปริศนาช่วงวินาทีท้ายๆ ของเครื่องบินได้หรือเปล่า
ส่วน ปิแอร์ บาร์การี อดีตผู้อำนวยการฝ่ายทดสอบของกรมสรรพาวุธฝรั่งเศส สถานที่สำหรับใช้วิเคราะห์ชิ้นส่วนดังกล่าว เสริมว่าสายการบินอาจเคยเขียนข้อมูลด้านการซ่อมบำรุงบนเศษซากนั้น ที่อาจช่วยพิสูจน์ว่ามันเป็นของ MH370 หรือไม่ “ถ้อยคำที่ใช้และแนวทางการเขียน ก็อาจให้ไอเดียที่มาที่ไปของซากเครื่องบินนี้ได้เช่นกัน”
นอกจากนี้แล้ว โทรอาเด็กเผยว่า เหล่าผู้เชี่ยวชาญจะตรวจสอบด้วยว่าชิ้นส่วนแฟลปเพอรอนหลุดออกมาจากปีกได้อย่างไร “มันเป็นการกระทบอย่างรุนแรงกับทะเลหรือเปล่า ดูเหมือนว่าชิ้นส่วนนี้ยังอยู่ในสภาพที่ดี มันดูไม่เหมือนชิ้นส่วนของเครื่องบินที่ร่วงลงในแนวดิ่งลงสู่ผิวน้ำด้วยความเร็ว 900 กิโลเมตรต่อชั่วโมง” เขากล่าว พร้อมระบุว่าผู้เชี่ยวชาญอาจมองหาร่องรอยการระเบิดหรือไฟลุกไหม้ด้วย
อีกด้านหนึ่งเหล่านักวิทยาศาสตร์ได้ชี้ไปที่เพรียงทะเลที่ติดอยู่กับชิ้นส่วนแฟลปเพอรอน ด้วยบอกว่ามันอาจให้ข้อสมมติฐานเกี่ยวกับระยะเวลาที่ชิ้นส่วนนี้อยู่ในทะเล และบางทีอาจรวมถึงจุดที่มันเคยอยู่ “หากมันเป็นเพรียงน้ำเย็น ก็อาจบ่งบอกว่าเครื่องบินดิ่งลงไปไกลในทางใต้มากกว่าที่พวกเขาคิด หรือหากมันเป็นแค่เพรียงเขตร้อน ก็อาจบ่งชี้ว่าจุดที่เครื่องบินตกนั้นอยู่ขึ้นไปทางเหนือ” เชน อาห์ยอง ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำเปลือกแข็งจากพิพิธภัณฑ์ออสเตรเลียกล่าว