xs
xsm
sm
md
lg

บาหลี “ปิดสนามบิน” รอบที่ 3 เที่ยงวันนี้ หลังภูเขาไฟชวายังพ่นพิษไม่หยุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายดาวเทียมขององค์การนาซาเมื่อวันที่ 12 ก.ค. เผยให้เห็นกลุ่มควันและเถ้าถ่านจากปากปล่องภูเขาไฟราอุง (Mount Raung) ในจังหวัดชวาตะวันออก (แฟ้มภาพ)
เอเอฟพี - สนามบินนานาชาติบนเกาะบาหลีของอินโดนีเซียต้องปิดทำการอีกครั้งในวันนี้ (22 ก.ค.) ส่งผลให้มีการระงับเที่ยวบินจำนวนมาก หลังจากภูเขาไฟราอุงในชวาตะวันออกยังคงพ่นเถ้าถ่านรบกวนการสัญจรทางอากาศไม่หยุดหย่อน

กลุ่มควันและเถ้าถ่านจากภูเขาไฟราอุงซึ่งปะทุมานานหลายสัปดาห์ ถูกกระแสลมหอบข้ามทะเลไปถึงเกาะบาหลี ทำให้ต้องมีการสั่งปิดสนามบินงูระห์รายเป็นรอบที่ 3 ในเวลาไม่ถึง 1 เดือน

กระทรวงคมนาคมอินโดนีเซียแถลงว่า สนามบินขนาดเล็กอีก 2 แห่งบนเกาะชวาซึ่งรองรับเฉพาะเที่ยวบินในประเทศ ก็ถูกปิดชั่วคราวเช่นกัน

“เนื่องจากเถ้าถ่านภูเขาไฟราอุง สนามบินนานาชาติงูระห์รายจะต้องปิดทำการชั่วคราวตั้งแต่เที่ยงวันนี้” เจ.เอ. บาราตา โฆษกกระทรวงคมนาคมอิเหนา ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

“เรายังตอบไม่ได้ว่าจะเปิดสนามบินเมื่อไหร่ แต่จะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”

ก่อนหน้านี้ สนามบินงูระห์รายเคยปิดทำการไปแล้ว 2 ครั้งระหว่างวันที่ 9-12 ก.ค. ซึ่งทำให้มีเที่ยวบินถูกยกเลิกเกือบ 900 เที่ยว และทางสนามบินต้องใช้เวลาหลายวันเพื่อระบายความแออัดของผู้โดยสารที่ตกค้างในช่วง “พีก” ของฤดูกาลท่องเที่ยวบาหลี

การปิดสนามบินครั้งล่าสุดคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารชาวอิเหนาหลายล้านคนที่กำลังมุ่งหน้ากลับบ้าน หลังใช้วันหยุดพักผ่อนช่วงเทศกาลอีดิ้ลฟิตรี

สายการบินเวอร์จินออสเตรเลีย และเจ็ตสตาร์ ได้ประกาศยกเลิกเที่ยวบินไป-กลับเกาะบาหลีตลอดทั้งวันนี้ (22) และยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีเที่ยวบินอื่นๆ ที่ถูกยกเลิกมากน้อยเท่าใด

เกอเด สวันติกา ผู้เชี่ยวชาญด้านภูเขาไฟของรัฐบาลอินโดนีเซีย ระบุว่า ภูเขาไฟราอุงพ่นเถ้าถ่านสูงขึ้นไปบนฟ้าราว 3,000 เมตรในวันนี้ (22) ขณะที่กระแสลมก็พัดไปในทิศทางสู่เกาะบาหลี

อินโดนีเซียตั้งอยู่บนแนววงแหวนไฟรอบมหาสมุทรแปซิฟิก และมีภูเขาไฟที่ยังมีพลังอยู่มากถึง 130 ลูก ส่งผลให้การสัญจรทางอากาศในแดนอิเหนาต้องประสบภาวะชะงักงันจากเถ้าถ่านภูเขาไฟบ่อยครั้ง

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ปัญหาสำคัญที่สุดไม่ใช่เรื่องทัศนวิสัย แต่เถ้าถ่านภูเขาไฟที่แปรสภาพเป็นผลึกแก้วอาจถูกดูดเข้าไปในเครื่องยนต์จนเป็นอันตรายต่อเครื่องบิน





กำลังโหลดความคิดเห็น