เอเอฟพี - เถ้าถ่านภูเขาไฟที่ปลิวว่อนแผ่ลามไปในวงกว้าง ทำให้อินโดนีเซียต้องขยายขอบเขตการปิดสนามบินเป็น 6 แห่งทั่วประเทศในวันพฤหัสบดี(16ก.ค.) ในนั้นรวมถึงท่าอากาศยานในเมืองใหญ่สุดอันดับ 2 ส่งผลให้มีนักเดินทางตกค้างเป็นจำนวนมากก่อนวันหยุดอีฎิ้ลฟิตริของชาวมุสลิม
สนามบินนานาชาติในสุราบายา เมืองใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของอินโดนีเซีย รองจากกรุงจาการ์ตา และท่าอากาศเล็กๆอีก 4 แห่งต้องปิดบริการผลจากการปะทุของภูเขาไฟราอุงบนเกาะชวา กระทรวงคมนาคมระบุ ส่วนสนามบินอีกแห่งบนเกาะเตอร์นาตี ถูกปิดเพราะเถ้าถ่านที่ล่องลอยมาจากภูเขาไฟกามาลามา ที่กำลังปะทุเช่นกัน
การปิดสนามบินสุราบายา หนึ่งในท่าอากาศยานที่พลุกพล่านที่สุดของประเทศ เกิดขึ้นในช่วงที่ประชาชนในประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดของโลกแห่งนี้ ต่างแห่แหนออกนอกเมือง ทั้งโดยสารเครื่องบิน เรือและรถยนต์ กลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อใช้เวลาช่วงวันฮารีรายออยู่กับครอบครัว ซึ่งตรงกับวันศุกร์(17ก.ค.)
นักเดินทางที่อยู่ในอารมณ์เบื่อหน่ายแออัดกันในอาคารสนามบิน ด้วยพบเห็นแถวยาวเหยียดบริเวณเคาน์เตอร์ แต่บางคนเลือกที่จะนั่งรอหรือไม่ก็นอนหลับบนพื้น ขณะที่ การูดา สายการบินแห่งชาติอินโดนีเซีย เผยว่าทางบริษัทต้องยกเลิกเที่ยวบินทั้งขาเข้าและออกจากสุราบายา 48 เที่ยว แต่ไม่ชัดเจนว่ารวมทั้งหมดแล้วมีการยกเลิกเที่ยวบินที่ท่าอากาศยานแห่งนี้เป็นจำนวนเท่าไหร่ "การปิดสนามบินจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่สัมพันธ์กับการแผ่ลามของเถ้าถ่านภูเขาไฟราอุง และจะมีการอัพเดทเป็นระยะๆ" ถ้อยแถลงของกระทรวงคมนาคมระบุ
การปิดสนามบินนานาชาติแห่งดังกล่าวในเมืองสุราบายาบนเกาะชวา มีขึ้นไม่กี่วันหลังจากที่สนามบินบนเกาะตากอากาศบาหลีที่ยู่ใกล้เคียงถูกปิดเนื่องจากเถ้าถ่านจากภูเขาไฟลูกเดียวกัน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวหลายพันคนติดค้าง อย่างไรก็ตามสนามบินบาหลี กลับมาเปิดและปฏิบัติการต่างๆได้ตามปกติในวันพฤหัสบดี(16ก.ค.)
สุโตโพ พูร์โว นูโกรโฮ โฆษกของสำนักงานภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่าภูเขาไฟราอุงปล่อยควันหนาขึ้นสู่อากาศสูงถึง 2,000 เมตรและลอยไปทางตะวันตกในวันพฤหัสบดี(16ก.ค.) อย่างไรก็ตามเขากล่าวเสริมว่ายังไม่จำเป็นต้องทำการอพยพชาวบ้านละแวกใกล้เคียง
การจราจรทางอากาศมักถูกรบกวนจากการปะทุของภูเขาไฟในอินโดนีเซีย ประเทศซึ่งมีภูเขาไฟมีพลังอยู่ถึง 130 ลูก
ข้อกังวลหลักๆ สำหรับบรรดาสายการบินเกี่ยวกับเถ้าถ่านของภูเขาไฟนั้นไม่ใช่ว่ามันอาจส่งผลต่อทัศนวิสัย แต่ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ามันอาจสร้างความเสียหายให้กับเครื่องบินมากกว่า เนื่องจากมันจะกลายเป็นแก้วเหลว เมื่อถูกดูดเข้าไปในเครื่องยนต์ของเครื่องบิน