xs
xsm
sm
md
lg

ทั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯและของจีนต่างเจอปัญหาเตียงนอนมี ‘บั๊ก’

เผยแพร่:   โดย: เอเชียอันเฮดจ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US and Chinese presidents both have problems with ‘bedbugs’
By Asia Unhedged
17/07/2015

มีข่าวลือว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ไม่ยอมไปพักที่โรงแรมวอลดอร์ฟ-แอสโตเรียอันสุดหรู ระหว่างที่เขาเดินทางไปเยือนนครนิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (17 ก.ค.) ที่ผ่านมา เนื่องจากเกรงว่าจะมีการติดตั้ง “บั๊ก” แอบดักฟัง หลังจากที่กลุ่มทุนจีนเข้าซื้อ “เดอะ วอลดอร์ฟ” ไปในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อพลิกทบทวนรายงานข่าวในอดีต เราก็พบว่าประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน ของจีน ก็เคยถูกอเมริกาแอบติดตั้ง “บั๊ก” ที่บริเวณเตียงนอนเหมือนกัน

นครนิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (17 ก.ค.) ที่ผ่านมา ดังเซ็งแซ่ด้วยข่าวลือที่ว่า ประธานาธิบดีโอบามา เลิกไปพักที่โรงแรมวอลดอร์ฟ-แอสโตเรีย (Waldorf-Astoria Hotel) อันสุดหรูหราสง่างาม บนถนนพาร์คแอวะนูว์ (Park Avenue) ซึ่งแสนโอฬาริกเสียแล้ว เนื่องจากเกรงกลัวว่าห้องชุดเพรสซิเดนเชียล สวีท ที่นั่น อาจจะเต็มไปด้วย “บั๊ก” (bug) ของฝ่ายจีน (นี่หมายถึง บั๊กอิเล็กทรอนิกส์นะครับ ไม่ใช่บั๊กสายพันธุ์แมลงอย่างพวกตัวเรือด bedbug ที่ชอบแอบซุกอยู่ตามที่นอนหมอนมุ้ง) ทั้งนี้โอบามามีกำหนดที่จะเดินทางไปยังมหานครแห่งนั้นเพื่อชมการแสดงที่โรงละครในบรอดเวย์ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข่าวนี้ได้ที่ http://gothamist.com/2015/07/17/obama_waldorf_over.php)

ดูเหมือนว่าความวิตกกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงดังกล่าว บังเกิดขึ้นตั้งแต่ที่ กลุ่มประกันภัยอันปัง (Anbang Insurance Group) ของจีน เข้าซื้อโรงแรม 47 ชั้นตั้งตระหง่านที่เต็มไปด้วยเกียรติประวัติอันเพริดแพร้วแห่งนี้ไปเมื่อปีที่แล้วในราคา 1,950 ล้านดอลลาร์ แถมยังบวกด้วยความระแวงสงสัยอย่างแรง ที่ว่า พวกแฮกเกอร์จีนคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการแอบเจาะเข้าไปโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลของลูกจ้างรัฐบาลกลางสหรัฐฯทั้งในปัจจุบันและในอดีตจำนวนเป็นล้านๆ คน จากสำนักงานบริหารจัดการงานบุคคล (Office of Personnel Management) เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่า ไม่เพียงโอบามาเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯทั้งหลายยังได้รับแจ้งให้อยู่ห่างๆ จาก เดอะ วอลดอร์ฟ เช่นเดียวกัน

เอเชียอันเฮดจ์คิดว่า เรื่องนี้เป็นหนึ่งในผลด้านลบซึ่งบังเกิดขึ้นมาเมื่อมีทุนจีนเข้าไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในนิวยอร์กเวลานี้ เราเองก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่ไปพักที่ เดอะ วอลดอร์ฟ ถ้าหากเราเป็นประธานาธิบดีโอบามา

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่อารมณ์ความรู้สึกโกรธเกรี้ยวในเชิงศีลธรรมของอเมริกาจะเดือดปุดๆ ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เราขอให้คุณลองพิจารณารายงานข่าวเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2002 ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์เดลี่เทเลกราฟ ของอังกฤษ (http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/northamerica/usa/1382116/China-finds-spy-bugs-in-Jiangs-Boeing-jet.html) ข่าวชิ้นนี้เขียนเอาไว้อย่างนี้ครับ:

จีนพบ ‘บั๊กสปาย’ ในไอพ่นโบอิ้งของ ‘เจียง’

ประเทศจีนอ้างว่าได้ตรวจพบบั๊กสอดแนมเป็นจำนวนเกือบ 30 ตัว โดยที่ตัวหนึ่งซุกซ่อนอยู่ในบริเวณหัวเตียงของเตียงนอนสำหรับประธานาธิบดี บนเครื่องบินไอพ่นโบอิ้ง 767 ซึ่งเพิ่งได้รับมอบจากอเมริกา เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องบินอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน

เครื่องบินลำนี้ขณะนี้กำลังจอดอยู่ในสนามบินทหารแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของกรุงปักกิ่ง โดยที่ไม่ได้ถูกนำออกใช้งาน และเครื่องหนังเครื่องเบาะตลอดจนเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งจำนวนมากถูกรื้อถูกถอดออกมาเป็นชิ้นๆ นับตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตอนที่นักบินทดสอบชาวจีนตรวจพบว่ามีเสียงประหลาดๆ ไม่คุ้นหูดังออกมาจากตัวเครื่องบินลำนี้

เจ้าหน้าที่จีนหลายรายเปิดเผยว่า จากการตรวจค้นเครื่องบิน 2 เครื่องยนต์ลำนี้ ซึ่งผลิตและติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งในอเมริกา ได้พบอุปกรณ์ดักฟังรวม 27 ชิ้น ถูกแอบวางซุกซ่อนเอาไว้ทั้งตรงบริเวณที่นั่ง, ห้องน้ำ, และข้างในฝาผนังที่บุปิดเอาไว้

ปักกิ่งเชื่อว่า บั๊กเหล่านี้ถูกแอบวางโดยสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (Central Intelligence Agency หรือ CIA) เมื่อตอนที่เครื่องบินลำนี้กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงตกแต่งกันใหม่เพื่อให้เหมาะสมแก่การใช้งาน ในเมืองซานอันโตนิโอ (San Antonio) มลรัฐเทกซัส

สำนักงานซีไอเอนั้นปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อรายงานข่าวนี้ บิลล์ ฮาร์โลว์ (Bill Harlow) โฆษกของหน่วยงานสปายสายลับแห่งนี้ กล่าวว่า “เราไม่แสดงความคิดเห็นต่อข้อกล่าวหาทำนองนี้หรอก นี่เป็นนโยบายที่เรายึดถือเรื่อยมา” ทางด้านทำเนียบขาวก็ใช้ถ้อยคำแทบจะเป็นอย่างเดียวกัน โดยออกมาแถลงว่า “เราไม่ขอถกแถลงใดๆ เมื่อเจอข้อกล่าวหาประเภทนี้”

รายงานข่าวนี้ยังปรากฏอยู่ในสื่อมวลชนด้านข่าวรายใหญ่ๆ ของสหรัฐฯด้วย ทว่าหลังจากนั้นก็ลับหายไปจากการเป็นข่าวพาดหัว โดยที่ไม่ได้มีการติดตามขุดคุ้ยเพิ่มเติมใดๆ

(จากคอลัมน์ Asia Unhedged ในเอเชียไทมส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น