xs
xsm
sm
md
lg

เป็นเรื่อง! พบเชื้อมรณะ“ไข้หวัดนก” สายพันธุ์ H7N7 โผล่ในอังกฤษ ยัน ติดต่อคนได้ ฆ่าไก่ทิ้งแล้วเกือบ 2 แสนตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ – กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษยืนยันในวันจันทร์ ( 13 ก.ค.) พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “ไข้หวัดนก” ในฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ปีกในเขต “แลงคาเชียร์” ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ

รายงานข่าวล่าสุดระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรออกคำแถลงในวันจันทร์ ( 13) ยืนยันถึงการพบภาวะแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก สายพันธุ์เอช7เอ็น7 (H7N7 virus) โดยจุดที่พบการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้ ระบุว่าอยู่ที่ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ปีกแห่งหนึ่งในเขตกูสนาร์ฟ ซึ่งอยู่ห่างจากเมือง “เปรสตัน” ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเพียงเล็กน้อย

แหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาและนักระบาดวิทยาภายในกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษเผยว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนก สายพันธุ์เอช7เอ็น7 นี้สามารถ “ติดต่อมาสู่มนุษย์ได้” แต่ย้ำว่า ความเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสที่ตรวจพบในแถบแลงคาเชียร์คราวนี้จะแพร่ระบาดลุกลามเป็นวงกว้างยังอยู่ใน “ระดับต่ำ”

ด้านสำนักงานรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารแห่งสหราชอาณาจักรออกคำแถลงที่ยืนยันว่า ผลิตภัณฑ์อาหารที่แปรรูปมาจากสัตว์ปีกที่วางจำหน่ายในเมืองผู้ดีขณะนี้มีความปลอดภัย และไม่พบว่ามีสินค้าที่มีต้นตอจากฟาร์มที่พบการระบาดวางจำหน่ายในตลาดขณะนี้

ด้านสื่อท้องถิ่นรายงานว่า ฟาร์มที่เป็นต้นตอของการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช7เอ็น7 ในครั้งนี้ คือ ฟาร์มเลี้ยงไก่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท “สเตฟลีย์ส เอกก์ส” ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัว และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไข่ไก่รายใหญ่ในแถบแลงคาเชียร์

รายงานข่าวระบุว่า การฆ่าไก่จำนวนกว่า 170,000 ตัวของฟาร์มแห่งดังกล่าว ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังตรวจพบการระบาดครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ (10 ก.ค.) และคาดว่า อาจดำเนินการได้เสร็จสิ้นภายในวันอังคาร ( 14 ก.ค. ) นี้ตามเวลาท้องถิ่น ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช7เอ็น7 ที่พบในฟาร์มแห่งนี้ แพร่กระจายไปสู่พื้นที่อื่น ๆ

ทั้งนี้ ในทวีปยุโรป เคยพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก สายพันธุ์เอช7เอ็น7มาแล้ว เมื่อปี ค.ศ. 2003 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยในครั้งนั้นพบการแพร่ระบาดของเชื้อมรณะจากสัตว์ปีกมาสู่คนมากกว่า 80 กรณี และมีผู้เสียชีวิต 1 รายซึ่งมีอาชีพเป็นสัตวแพทย์


กำลังโหลดความคิดเห็น