เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ – ผลการศึกษาล่าสุดซึ่งมีการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการแพทย์ชื่อดัง “ นิวอิงแลนด์ เจอร์นัล ออฟ เมดิซีน” ระบุ การเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของชายสูงวัยชาวเยอรมันจำนวน 3 ราย ระหว่างช่วงปี 2011 – 2013 แท้ที่จริงแล้วเกิดจากการติด “ เชื้อไวรัสกระรอก” ซึ่งถือเป็นเชื้อไวรัสชนิดอุบัติใหม่ล่าสุดที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์
ผลการศึกษานานแรมปีของทีมนักวิจัยจากสถาบันฟรีดริช เลิฟเฟลอร์ แห่งประเทศเยอรมนี ซึ่งได้ตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารนิวอิงแลนด์ เจอร์นัล ออฟ เมดิซีนฉบับ 9 ก.ค. ระบุว่า สาเหตุที่แท้จริงที่นำไปสู่การเสียชีวิตระหว่างช่วงปี 2011 – 2013 ของชายสูงวัยชาวเยอรมัน 3 รายซึ่งมีอายุระหว่าง 60 – 70 ปี และต่างมีอาชีพเป็น “นักผสมพันธุ์กระรอก” นั้น แท้จริงแล้วเกิดจากการที่ชายทั้งสามรายได้รับเชื้อในตระกูล “บอร์นาไวรัส” มาจากสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในความดูแลของพวกเขา คือ กระรอกสายพันธุ์พื้นเมือง ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบอเมริกากลาง
ผลการศึกษาดังกล่าวระบุว่า ในความเป็นจริงแล้วเคยมีการค้นพบไวรัสตัวอื่นในตระกูลบอร์นาไวรัสมาก่อน และไวรัสจากตระกูลนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นอันตรายต่อสัตว์จำพวกม้า แกะ และนกบางสายพันธุ์
อย่างไรก็ดี เชื้อไวรัสที่ถูกทีมวิจัยพบว่าอยู่ในตัวชายทั้งสามคนและเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดการอักเสบภายใน "สมอง" ของผู้ติดเชื้อจนนำไปสู่การเสียชีวิตนั้น ถือเป็นเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ซึ่งมีต้นตอมาจากกระรอกพันธุ์พื้นเมืองอเมริกากลาง และสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้
แม้จะสามารถยืนยันได้ว่า เชื้อไวรัสตระกูลบอร์นาที่ทีมนักวิจัยจากสถาบันฟรีดริช เลิฟเฟลอร์ค้นพบนั้นเป็นไวรัสมรณะสายพันธุ์ใหม่จริง แต่ทีมวิจัยยังไม่สามารถให้คำตอบได้แน่ชัดว่า ผู้เสียชีวิตทั้งสามรายในเยอรมนีซึ่งมีประวัติว่า สนิทสนมกันด้วยนั้น ได้รับเชื้อไวรัสนี้มาจากกระรอกของพวกเขาได้อย่างไร
เนื่องจากผู้เสียชีวิต 2 ใน 3 รายนี้ถูกกระรอกกัดหรือข่วนก่อนจะล้มป่วย แต่ผู้เสียชีวิตอีกรายหนึ่งได้ล้มป่วยลงโดยที่ไม่เคยถูกกระรอกกัดหรือข่วนมาก่อน จึงทำให้ทีมวิจัยยังไม่สามารถสรุปได้ว่า การติดเชื้อทางบาดแผลคือช่องทางที่เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ติดต่อเข้าสู่ร่างกาย และจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป