xs
xsm
sm
md
lg

มาเลเซียเผยร่างมติร้อง UN ตั้ง “ศาลระหว่างประเทศ” ไต่สวน MH17 ถูกยิงตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ – คณะผู้แทนมาเลเซียแจกจ่ายร่างมติสหประชาชาติเรียกร้องให้มีการจัดตั้งศาลระหว่างประเทศเพื่อไต่สวนเอาผิดผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เครื่องบินโดยสารมาเลเซียแอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MH17 ถูกยิงตกในภาคตะวันออกของยูเครน วันนี้ (9 ก.ค.)

สัปดาห์ที่แล้ว ผู้แทนมาเลเซียได้แจ้งต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่า พร้อมที่จะเดินหน้าเสนอร่างมติดังกล่าว แม้จะมีเสียงต่อต้านจาก “ผู้ต้องหาหลัก” อย่างรัสเซียว่าสิ่งที่กัวลาลัมเปอร์เรียกร้องยัง “เร็วเกินไป” ก็ตาม

มติฉบับร่างที่สำนักข่าวเอเอฟพีได้รับมีเนื้อหาเรียกร้องให้ยูเอ็นตั้งศาลเฉพาะกิจตามบทบัญญัติที่ 7 ในกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งจะเปิดทางให้มีการใช้มาตรการคว่ำบาตรเพื่อลงโทษผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรม

เที่ยวบิน MH17 ซึ่งออกเดินทางจากกรุงอัมสเตอร์ดัมเพื่อไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ ถูกขีปนาวุธยิงตกเหนือเขตอิทธิพลของกบฏฝักใฝ่รัสเซียในภาคตะวันออกของยูเครนเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว เป็นเหตุให้ลูกเรือและผู้โดยสาร 298 คนเสียชีวิตทั้งหมด โดยเหยื่อ 2 ใน 3 เป็นพลเมืองเนเธอร์แลนด์

รัฐบาลยูเครนและประเทศตะวันตกเชื่อว่า โบอิ้ง 777-200 ของมาเลเซียถูกกบฏโปรรัสเซียใช้ขีปนาวุธที่ผลิตในแดนหมีขาวสอยร่วงลงมาจากฟ้า ทว่ารัสเซียยืนกรานว่าไม่เคยส่งขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน SA-11 Buk ให้พวกกบฏใช้

ร่างมติระบุว่า ศาลเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้น “จะเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการรับประกันว่ากระบวนการไต่สวนหาตัวผู้กระทำผิดจะเป็นไปอย่างอิสระ และปราศจากการลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใด” ทั้งยังชี้ว่า การยิงเที่ยวบิน MH17 ตก “ถือเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ” และนานาชาติควรจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ต่อศาลยูเอ็นที่จะตั้งขึ้น

เอกสารยังระบุต่อไปว่า ศาลระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้น “จะมีวัตถุประประสงค์เพื่อเอาผิดผู้ที่ก่อวินาศกรรมเครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MH17 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2014 เท่านั้น” โดยยึดแบบอย่างจากศาลพิเศษที่ยูเอ็นตั้งขึ้นเพื่อไต่สวนคดีอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ

นายกรัฐมนตรี มาร์ก รัตต์ แห่งเนเธอร์แลนด์ แถลงว่า ศาลระหว่างประเทศคือ “ทางเลือกที่ดีที่สุด” ในการเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ก็จำเป็นต้องมี “แผนบี” เตรียมไว้ ในกรณีที่รัสเซียใช้อำนาจวีโต

ด้วยฐานะ 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงฯ รัสเซียมีอำนาจที่จะ “วีโต” มติต่างๆ ได้เช่นเดียวกับ ฝรั่งเศส อังกฤษ จีน และสหรัฐฯ ซึ่งมอสโกอาจเลือกใช้วิธีนี้ขัดขวางข้อเสนอของมาเลเซียหากมีการโหวตเกิดขึ้น

เกนนาดี กาติลอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย วิจารณ์ร่างมติฉบับนี้ว่า “ไม่ถูกกาลเทศะ และไม่สร้างสรรค์” เพราะควรรอให้กระบวนการสอบสวนอื่นๆ ได้ข้อสรุปชัดเจนเสียก่อน

คณะสอบสวนร่วมซึ่งนำโดยรัฐบาลเนเธอร์แลนด์คาดว่าจะเปิดเผยผลการสอบสวนฉบับสมบูรณ์ได้ในเดือนตุลาคมนี้

เนเธอร์แลนด์ซึ่งสูญเสียพลเมืองไปมากที่สุดจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ได้เข้ามาเป็นผู้นำทีมสอบสวนนานาชาติ ขณะที่มาเลเซีย ออสเตรเลีย เบลเยียม และยูเครนก็มีส่วนร่วมด้วย ส่วนทางด้านของรัสเซียก็ส่งพนักงานสอบสวนเข้ามาช่วยตรวจสอบสาเหตุการตกของโบอิ้งลำนี้อีกทางหนึ่ง

รอมลัน บิน อิบรอฮีม เอกอัครราชทูตผู้แทนมาเลเซียประจำยูเอ็น แถลงต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงทั้ง 15 ชาติเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ศาลเฉพาะกิจยูเอ็น “จะมีอำนาจชอบธรรมสูงสุดในการไต่สวน” โศกนาฏกรรมการบินครั้งนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น