เอเอฟพี/รอยเตอร์ - วอลล์สตรีทเกิดปัญหาทางเทคนิคต้องระงับการซื้อขายนานกว่า 3 ชั่วโมง ในวันพุธ (8 ก.ค.) ก่อนปิดลบหนักจากความกังวลต่อภาวะฟองสบู่แตกในตลาดหุ้นจีน และวิกฤตหนี้กรีซ ปัจจัยนี้ผลักนักลงทุนแห่ถือครองทองคำจนพุ่งขึ้นกว่า 10 ดอลลาร์ ส่วนน้ำมันตลาดอเมริกาปรับลงเป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน
ดาวโจนส์ ลดลง 261.49 จุด (1.47 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 17,515.42 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 34.65 จุด (1.66 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,046.69 จุด แนสแดค ลดลง 87.70 จุด (1.75 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,909.76 จุด
ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) ปรับมาทำการซื้อขายได้อีกครั้งในช่วงท้าย หลังต้องระงับไปนานกว่า 3 ชั่วโมง สืบเนื่องจากปัญหาขัดข้องทางเทคนิค ถือเป็นเหตุขัดข้องครั้งเลวร้ายที่สุดของตลาดการเงินสหรัฐฯในรอบเกือบ 2 ปี ขณะที่ทาง NYSE ชี้แจงว่ามันไม่ได้มีสาเหตุจากการถูกแฮกระบบ
อย่างไรก็ตาม เหตุขัดข้องดังกล่าวไม่อาจยับยั้งการดิ่งลงของวอลล์สตรีท ที่ถูกกดดันจากภาวะฟองสบู่แตกในตลาดทุนจีน หลังจากตลาดหุ้นแดนมังกรร่วงลงมามากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ในระยะเวลาแค่ช่วง 3 สัปดาห์หลังสุด ส่งผลให้ราคาหุ้นดิ่งลงถึง 30% คิดเป็นมูลค่าถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ และนักลงทุนบางส่วนหวาดหวั่นว่าตอนนี้ความยุ่งเหยิงของจีนกลายเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่หลวงกว่าวิกฤตในกรีซไปแล้ว
นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า การดำดิ่งของตลาดหุ้นคราวนี้ อาจถึงกับสร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจจีน ซึ่งใหญ่โตเป็นอันดับ 2 ของโลก ตลอดจนอาจเป็นชนวนทำให้เกิดความไม่สงบทางสังคมขึ้นมา ถึงแม้จีนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ซึ่งควบคุมผู้ที่ความเห็นแตกต่างจากรัฐบาล อย่างเข้มงวดกวดขันก็ตามที
ปัจจัยแห่งความกังวลต่อภาวะฟองสบู่แตกในตลาดหุ้นจีน กระตุ้นให้นักลงทุนอพยพเข้าสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และส่งผลให้ราคาทองคำเมื่อวันพุธ (8 ก.ค.) ปิดบวกอย่างแรง ฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดรอบเกือบ 4 เดือน หนึ่งวันก่อนหน้านี้ โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 10.90 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,163.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ด้านราคาน้ำมันตลาดสหรัฐฯในวันพุธ (8 ก.ค.) ปรับลดเป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน หลังพบสต๊อกเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น แต่ลอนดอนปิดบวกในกรอบแคบ ๆ จากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง
น้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือ ไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม ลดลง 68 เซนต์ ปิดที่ 51.65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน เพิ่มขึ้น 20 เซนต์ ปิดที่ 57.05 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ตลาดน้ำมันอยู่ภายใต้แรงกดดันของประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก ในนั้นรวมถึงภาวะพังครืนของตลาดหุ้นจีน วิกฤตหนี้กรีซ และการเจรจาโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งล้วนจะกระทบต่อสมดุลทางอุปสงค์ - อุปทานพลังงานโลก
ขณะเดียวกัน คลังน้ำมันดิบสำรองของสหรัฐฯในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 กรกฎาคม เพิ่มขึ้น 400,000 บาร์เรล เป็น 465.8 ล้านบาร์เรล เช่นเดียวกับสต๊อกเบนซิน แม้จะเป็นช่วงพีคสุดของฤดูกาลขับขี่ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บอกว่า ราคาน้ำมันตลาดลอนดอน ได้แรงสนับสนุนจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงและนักลงทุนช้อนซื้อเก็งกำไร หลังราคาลดต่ำลงเมื่อเร็ว ๆ นี้