xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’ต้องการให้ ‘กรีซ’อยู่ใน ‘อียู’ต่อไป

เผยแพร่:   โดย: เอเชียอันเฮดจ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China wants Greece to stay in EU
By Asia Unhedged
01/07/2015

จีนมีผลประโยชน์ได้เสียอยู่อย่างมากมายมหาศาล ทั้งในฐานะที่เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ ในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศกรีซ, ในพันธบัตรสกุลเงินยูโร, และในเศรษฐกิจของอียูโดยองค์รวม ขณะที่กรีซก็จะเป็นศูนย์กลางสำคัญแห่งหนึ่งในยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมสายใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 ของแดนมังกร ดังนั้น ปักกิ่งจึงปรารถนาที่จะให้กรีซคงอยู่ในอียูและในยูโรโซนต่อไป

กระทรวงการต่างประเทศของจีนออกมาประกาศเมื่อวันพุธ (1 ก.ค.) ว่า ประเทศจีนปรารถนาที่จะได้เห็นเงินสกุลยูโรซึ่งมีความแข็งแกร่ง และสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งมีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พร้อมกับเรียกร้องให้ กรีซ และบรรดาเจ้าหนี้ของประเทศนั้น ดำเนินการเจรจาหารือแก้ไขปัญหากันต่อไป

แดนมังกรออกมาแสดงท่าทีอย่างเป็นทางการเช่นนี้ หลังจากที่ในวันอังคาร (30 มิ.ย.) กรีซได้ผิดนัดชำระหนี้ ไม่สามารถจ่ายคืนเงินกู้จำนวน 1,600 ล้านยูโร (1,800 ล้านดอลลาร์) ให้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ตามกำหนดเวลานัดหมาย

“เราหวังว่าเหล่าเจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องจะสามารถดำเนินการเจรจาหารือกับกรีซต่อไป เพื่อพยายามบรรลุข้อตกลงกันให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และแก้ไขคลี่คลายวิกฤตที่เผชิญอยู่ในเวลานี้อย่างถูกต้องเหมาะสม” หวา ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวในการแถลงข่าวตามปกติ “ในมุมมองของจีนนั้น เราหวังที่จะได้เห็นอียูและยูโรโซนสามารถที่จะแก้ไขคลี่คลายปัญหานี้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และกรีซก็สามารถที่จะยังคงอยู่ในยูโรโซนต่อไป นี่จะสอดคล้องเป็นประโยชน์แก่ทุกๆ ฝ่าย ขณะที่จีนก็จะแสดงบทบาทอันสร้างสรรค์จากความปรารถนาเช่นนี้ต่อไปอีก” (ดูรายละเอียดของคำแถลงนี้ได้ที่ http://www.reuters.com/article/2015/07/01/us-eurozone-greece-china-debt-idUSKCN0PB3R020150701)

คำแถลงเช่นนี้เป็นการเน้นย้ำความเห็นของนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีน เมื่อตอนต้นสัปดาห์นี้ ในระหว่างที่เขาไปเยือนกรุงบรัสเซลส์ (เมืองหลวงของเบลเยียม และก็เป็นเสมือนเมืองหลวงของอียู เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่สหภาพยุโรป -ผู้แปล)

จีนนั้นมีผลประโยชน์ได้เสียอยู่อย่างมากมายมหาศาล จึงต้องการให้กรีซยังคงอยู่ในอียูต่อไป ทั้งนี้แดนมังกรเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่รายหนึ่ง ทั้งในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศกรีซ, ในพันธบัตรสกุลเงินยูโร, และในเศรษฐกิจของอียูโดยองค์รวม ปัจจุบัน สหภาพยุโรปกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนไปแล้ว ขณะที่ในทางกลับกัน จีนก็เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของอียู

กรีซได้รับการจับตามองว่า จะเป็นศูนย์กลางสำคัญแห่งหนึ่งในยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมสายใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน หรือที่ปักกิ่งนิยมเรียกย่อๆ ว่า “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road) ซึ่งมุ่งที่จะขยายเพิ่มพูนการติดต่อค้าขายกับเอเชีย, ยุโรป, และแอฟริกา ทั้งทางบกและทางทะเล ในแผนการดังกล่าวนี้ จีนจะอาศัยกรีซเป็นปากทางเข้าสู่ทวีปยุโรปจากทางด้านใต้ โดยที่ในเวลานี้ บริษัทคอสโค (Cosco) ของจีน ก็เข้าเป็นผู้บริหารจัดการท่าเทียบเรือ 2 แห่งในท่าเรือไพเรอุส (Piraeus) แล้ว อีกทั้งกำลังพยายามซื้อหุ้น 67% ในท่าเรือใหญ่ที่สุดของกรีซแห่งนี้

“มีผู้สังเกตการณ์บางคนกำลังชี้ให้เห็นแล้วว่า ถ้าหากกรีซหลุดออกมาจากยูโร อาจกลายเป็นการสร้างโอกาสให้จีนสามารถที่จะขยับเดินหน้าวาระทางยุทธศาสตร์ของตนให้รวดเร็วขึ้นอีกหลายตา ด้วยการเข้าซื้อทรัพย์สินของกรีซเพิ่มมากขึ้นในราคาที่ต่ำเตี้ยติดดิน” สถานีวิทยุและโทรทัศน์บีบีซีออกความเห็น “เรื่องนี้ถือเป็นสมการที่ไร้ความแน่นอนจัดการได้ยากสมการหนึ่งทีเดียว โดยในด้านหนึ่งของสมการนั้น คือผลประโยชน์แบบอำนาจละมุน (soft power) ในต่างแดนที่ปักกิ่งจะได้มา เนื่องจากได้ชื่อว่าเข้าช่วยเหลือกอบกู้กรีซให้พ้นภัยในขณะที่บรัสเซลส์ไม่ได้ทำ แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ก็คือต้นทุนค่าใช้จ่ายสุดท้ายของการเข้าไปยุ่งเกี่ยวจัดการกับหนี้สินของกรีซ ซึ่งจำนวนมากเป็นหนี้สินที่ไม่สามารถเรียกทวงเอากลับคืนมาได้” (ดูรายละเอียดทัศนะของบรรณาธิการข่าวจีน ของบีบีซีนี้ ได้ที่http://www.bbc.com/news/world-asia-china-33322911)

(จากคอลัมน์ Asia Unhedged ในเอเชียไทมส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น