รอยเตอร์ - ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุคนร้ายปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยวซุกปืนในร่มบังแดด เข้าไปกราดยิงนักท่องเที่ยวบริเวณชายหาดของโรงแรมแห่งหนึ่งของตูนิเซียเมื่อวันศุกร์ (26 มิ.ย.) เพิ่มเป็น 39 ศพ ในนั้นมีทั้งชาวอังกฤษ เยอรมนีและเบลเยียม ขณะที่สื่อต่างประเทศอ้างผู้เห็นเหตุการณ์ได้เล่าฉากต่อฉากวินาทีมือปืนเข่นฆ่าผู้คนไม่เลือกหน้า
เหล่านักท่องเที่ยวผู้ตื่นตระหนกต้องวิ่งหาสิ่งกำบังกันอลหม่าน หลังเสียงกราดยิงและระเบิดดังขึ้นที่โรงแรมอิมพีเรียล มาร์ฮาบา ในซูสส์ เมืองตากอากาศนิยม ห่างจากกรุงตูนิสไปทางใต้ราว 140 กิโลเมตร ก่อนตำรวจจะยิงคนร้ายเสียชีวิต “มันเคยเป็นที่ที่ปลอดภัยมาตลอด แต่วันนี้มันน่าสยดสยองมาก” นักท่องเที่ยวชาวไอร์แลนด์คนหนึ่งบอก “เขาเริ่มต้นที่ชายหาด จากนั้นก็ไปยังล็อบบี้ ลงมือฆ่าอย่างเลือดเย็น”
เหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุโจมตีนองเลือดครั้งเลวร้ายต่อตูนิเซียหนที่ 2 ในรอบปี และยังเกิดในช่วงเดือนถือศีลอดในเทศกาลรอมฎอนของชาวมุสลิม ขณะที่ตูนิเซียยกระดับเตือนภัยขั้นสูงสุดมาตั้งแต่เดือนมีนาคม หลังจากกลุ่มมือปืนอิสลามิสต์บุกถล่มพิพิธภัณฑ์บอร์โนในเมืองหลวง ฆ่านักท่องเที่ยวต่างชาติ 21 ชีวิต นับเป็นการโจมตีครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบทศวรรษของประเทศ
เหตุความรุนแรงดังกล่าว ส่งผลให้วันศุกร์ (26 มิ.ย.) กลายเป็นวันแห่งการนองเลือดในหลายจุดทั่วโลก อาทิเหตุมือระเบิดฆ่าตัวตายโจมตีมัสยิดชีอะห์แห่งหนึ่งในเมืองหลวงของคูเวต คร่าชีวิตผู้คนไป 13 ศพ และเหตุคนร้ายจู่โจมโรงงานก๊าซแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกของฝรั่งเศส ซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นฝีมือของพวกอิสลามิสต์หัวรุนแรง รวมถึงมีรายงานว่ามีพลเรือน 145 คนถูกนักรบพวกรัฐอิสลาม (ไอเอส) สังหารทางภาคตะวันออกของซีเรีย
ราฟิก เชลวี เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยเผยว่ามือปืนที่อยู่เบื้องหลังโจมตีโรงแรมในเมืองซูสส์วันศุกร์ (26 มิ.ย.) เป็นนักศึกษาชาวตูนิเซีย ซึ่งไม่เคยอยู่ในบัญชีดำบุคคลที่มีโอกาสเป็นพวกญิฮัดมาก่อน
รอยเตอร์รายงานโดยอ้างผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า หลังดึงปืนออกจากที่ซ่อนใต้ร่มบังแดด มือปืนก็เตร็ดเตร่ไปทั่วพื้นที่ของโรงแรม จากนั้นก็กราดยิงที่บริเวณสระว่ายน้ำและชายหาด โดยระหว่างนั้นได้บรรจุกระสุนใหม่หลายรอบและขว้างระเบิดออกมาลูกหนึ่ง ก่อนถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม
ส่วนแหล่งข่าวด้านความมั่นคงบอกว่า พบระเบิดอีกลูกบนตัวคนร้ายที่นอนเสียชีวิตในจุดเกิดเหตุข้างๆ กับปืนอาก้าที่ใช้ลงมือ ด้านสถานีวิทยุท้องถิ่นรายงานว่าตำรวจได้ควบคุมตัวมือปืนอีกคน แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยืนยันการจับกุมหรือบทบาทในเหตุโจมตีของผู้ต้องสงสัยรายดังกล่าว และจากคำบอกเล่าของพนักงานโรงแรมระบุว่า “มือโจมตีมีแค่คนเดียว เขาเป็นคนหนุ่มนุ่งกางเกงขาสั้น ทำตัวเหมือนเป็นนักท่องเที่ยว”
ถ้อยแถลงของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในบรรดาผู้เสียชีวิตทั้งหมด 39 คน มีชาวอังกฤษ เยอรมนี และเบลเยียมรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้แล้วยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 36 คน ส่วนกระทรวงการต่างประเทศไอร์แลนด์บอกว่ามีชาวไอร์แลนด์เสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน ด้านนายฟิลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ยืนยันมีชาวอังกฤษเสียชีวิตในเหตุกราดยิง 5 คน
ตูนิเซียเป็นหนึ่งในประเทศมุสลิมสายกลางที่สุดของโลกอาหรับ โดยมีสถานตากอากาศตามชายหาดและไนท์คลับริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอันเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยวตะวันตก และการท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในรายได้หลักของรัฐบาล
ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบ แต่พวกญิฮัดอิสลามิสต์เคยโจมตีแหล่งท่องเที่ยงในประเทศแถบแอฟริกาเหนือแห่งนี้มาก่อน โดยพวกเขามองว่าสถานที่เหล่านั้นเป็นเป้าหมายที่ชอบธรรมเพราะเปิดรับวิถีชีวิตชาวตะวันตกและยอมให้มีการดื่มแอลกอฮอล์
ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า สถานการณ์เต็มไปด้วยความตื่นตระหนกและความสับสน ตามหลังเหตุกราดยิงที่โรงแรมในเมืองซูสส์ โดย เอลิซาเบธ โอไบรอัน สตรีชาวไอร์แลนด์ ซึ่งพักอยู่ในโรงแรมที่อยู่ติดกันกับลูกชาย 2 คน เล่าว่าบนชายหาดเต็มไปด้วยความโกลาหลเมื่อเหตุกราดยิงเริ่มขึ้น “ด้วยความจริง ตอนแรกฉันคิดว่ามีคนจุดพลุ จากนั้นฉันก็เห็นผู้คนวิ่งไปทั่ว ฉันถึงรู้ว่า โอ้พระเจ้า มันคือการยิงกัน” เธอบอกกับสถานีวิทยุไอริช “พวกบริกรชายและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบนชายหาดเริ่มตะโกนบอกทุกคนว่า วิ่ง วิ่ง วิ่ง เร็วเข้า”
ในซูสส์ พบเห็นนักท่องเที่ยวเริ่มเก็บกระเป๋าขึ้นรถบัสและเช็กเอาต์ออกจากโรงแรงต่างๆเพื่อเดินทางออกจากเมืองตามหลังเหตุโจมตีคราวนี้ ขณะที่ TUI บริษัททัวร์ของเยอรมนีเผยว่าทางบริษัทได้จัดเที่ยวบินรองรับนักท่องเที่ยวที่ประสงค์เดินทางกลับจากตูนิเซีย ส่วนคนที่จองตั๋วไปพักผ่อนที่ตูนิเซียไว้แล้วในช่วงฤดูร้อนนี้ก็สามารถคืนตั๋วหรือยกเลิกโปรแกรมเดินทางโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
เมื่อปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป เยี่ยมเยือนชายหาด ท่องทะทรายและเดินตลาดเมดินาของตูนิเซีย ซึ่งคิดเป็นราวร้อยละ 7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) “นี่จะเป็นหายนะต่อเศรษฐกิจ เราจะสุญเสียรายได้มหาศาล แต่การสูญเสียชีวิตมนุษย์นั้นคือความสูญเสียที่เลวร้ายกว่ามาก” รัฐมนตรีท่องเที่ยวของตูนิเซียบอก