เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ราคาน้ำมันในวันพุธ (24 มิ.ย.) ขยับลงพอสมควร หลังข้อมูลสหรัฐฯ พบกำลังผลิตภายในประเทศยังสูงลิ่ว ส่วนวอลล์สตรีทปิดลบแรง จากสัญญาณปัญหาใหม่ของการเจรจาระหว่างกรีซกับเจ้าหนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจของอเมริกา กดดันให้ทองคำปรับลดในกรอบๆ
น้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม ลดลง 74 เซ็นต์ ปิดที่ 60.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน ลดลง 96 เซ็นต์ ปิดที่ 63.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ข้อมูลกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ พบว่า กำลังผลิตภายในประเทศในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 มิถุนายน ดีดตัวขึ้นเป็น 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้อีกด้านหนึ่งคลังน้ำมันดิบสำรองในสัปดาห์เดียวกัน จะลดลง 4.9 ล้านบาร์เรล แต่ก็ยังสูงถึง 463 ล้านบาร์เรล ใกล้ๆ ระดับสูงสุดตลอดกาล
จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆเลยที่บ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐฯ กำลังตัดลดปริมาณการผลิต แม้ต้องเผชิญกับภาวะราคาที่ตกต่ำ
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯในวันพุธ (24 มิ.ย.) ขยับลงแรงตามตลาดทุนอื่นๆ ของยุโรป จากสัญญาณปัญหารอบใหม่ของการเจรจาระหว่างกรีซและเหล่าเจ้าหนี้นานาชาติซึ่งมีเป้าหมายป้องกันไม่ให้เอเธนส์ผิดนัดชำระหนี้
ดาวโจนส์ ลดลง 178.00 จุด (0.98 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 17,966.07 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 15.62 จุด (0.74 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,108.58 จุด แนสแดค ลดลง 37.68 จุด (0.73 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 5,122.41 จุด
น้ำเสียงการเจรจาระหว่างกรีซกับเหล่าเจ้าหนี้ระหว่างประเทศเคร่งเครียดหนัก ด้วยนายอเล็กซิส ซีปราส นายกรัฐมนตรีกรีซ แสดงความไม่พอใจต่อข้อเสนอแย้งของเหล่าเจ้าหนี้ต่อแผนปฏิรูปของรัฐบาล
ปีเตอร์ คาร์ดิลโล ประธานฝ่ายยุทธศาสตร์การตลาดของร็อกเวลล์ โกลบัล แคปิตอล ให้ความเห็นว่าประเด็นกรีซเป็นตัวถ่วงตลาด แต่ก็ชี้ว่ามีนักลงทุนบางส่วนตัดสินใจขายออกมาก่อนสิ้นสุดไตรมาส 2 ในวันอังคารหน้า
ส่วนราคาทองคำในวันพุธ (24 มิ.ย.) ปิดลบเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน นักลงทุนทบทวนข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาแรกของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดกรอบเวลาการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ขณะเดียวกันก็จับตาการเจรจาแก้วิกฤตหนี้กรีซ ทองคำตลาดโคเม็กซ์ งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม ลดลง 3.70 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,172.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ข้อมูลล่าสุดพบว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสแรก หดตัวเพียงร้อยละ 0.2 น้อยกว่าจากที่ประมาณการณ์คราวก่อนที่ระบุว่าน่าจะหดตัวถึงร้อยละ 0.7 ปัจจัยนี้ส่งผลให้นักลงทุนจับตาก้าวย่างต่อไปของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย