xs
xsm
sm
md
lg

ชาวแอลเบเนียแห่ใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น บททดสอบ “ประชาธิปไตยอันเปราะบาง” และคะแนนนิยมรัฐบาลพรรคสังคมนิยม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี เอดี รามา ผู้นำวัย  50 ปีของแอลเบเนียถูกบันทึกภาพขณะเดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
เอเอฟพี /เอเจนซีส์/ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ชาวแอลเบเนียออกจากบ้านไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งท้องถิ่นในวันอาทิตย์ (21 มิ.ย.) เป็นการเลือกตั้งที่ถูกมองว่าเป็น “บททดสอบสำคัญ” สำหรับระบอบประชาธิปไตยอันเปราะบางของดินแดนในคาบสมุทรบอลข่านแห่งนี้ที่กำลังเร่งผลักดันตนเองเข้าสู่การเป็น “สมาชิกใหม่” ของสหภาพยุโรป (อียู) ในอนาคต

นับตั้งแต่การล่มสลายของระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ในแอลเบเนียเมื่อช่วงต้นของทศวรรษ 1990 การเลือกตั้งที่จัดขึ้นแต่ละครั้งในประเทศนี้ มักถูกบดบังด้วยการเกิดเหตุรุนแรง ตลอดจนข้อกล่าวหาในเรื่องการทุจริตฉ้อฉลของฝ่ายการเมืองกลุ่มต่างๆ

อย่างไรก็ดี อิเลียร์ เมตา ประธานสภาผู้แทนราษฎรของแอลเบเนีย เปิดเผยต่อสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นคราวนี้ “คุณค่าของประชาธิปไตย” ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างแท้จริง มากกว่าเรื่องของ “ผลแพ้ชนะ” ในการเลือกตั้ง

ด้านนักวิเคราะห์จากหลายสำนักทั่วยุโรปต่างพากันลงความเห็นว่า แม้ประเด็นเรื่อง “คุณค่าของประชาธิปไตย” จะถูกฝ่ายต่างๆ ในเวทีการเมืองของแอลเบเนีย หยิบยกมาพูดถึงเป็นอย่างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้

แต่ทว่าในอีกด้านหนึ่งก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ผลการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นของแอลเบเนียคราวนี้จะถูกมองไม่ต่างจาก “ตัวชี้วัดความนิยม” ของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลผสมชุดปัจจุบัน ที่อยู่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เอดี รามา ผู้นำวัย 50 ปี และพรรคสังคมนิยมแห่งแอลเบเนีย (พีเอส) ที่เป็นฝ่ายได้ก้าวขึ้นมาครองอำนาจในประเทศนี้นับตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน ปี 2013 เป็นต้นมา

ในอีกด้านหนึ่ง ลุลซิม บาชา ผู้นำฝ่ายค้านของแอลเบเนีย ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีของกรุงติรานา เมืองหลวงของประเทศ เปรียบการเลือกตั้งคราวนี้ว่า ไม่ต่างจากการจัดลงประชามติเพื่อขับไล่รัฐบาลพรรคสังคมนิยม และกล่าวเตือนว่า มีความเป็นไปได้สูงมาก ที่ฝ่ายรัฐบาลจะทำทุกวิถีทางเพื่อเปลี่ยนผลการเลือกตั้ง หรือกระทำการทุจริตในรูปแบบต่างๆ

รายงานข่าวระบุว่า ชาวแอลเบเนียราว 3.3 ล้านคน เป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นครั้งนี้ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและคณะผู้บริหารใน 61 เมืองทั่วประเทศ โดยที่ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะสามารถประกาศได้ในวันจันทร์ (22) นี้

ทั้งนี้ มีรายงานว่าสหภาพยุโรปได้จับตามองการเลือกตั้งครั้งนี้ของแอลเบเนียอย่างใกล้ชิด โดยมีการส่งทีมสังเกตการณ์ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติเกือบ 400 ชีวิต และเจ้าหน้าที่ที่เป็นชาวแอลเบเนียกว่า 5,000 ราย กระจายกำลังกันลงพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อเฝ้าระวังการทุจริตในรูปแบบต่างๆ

ขณะที่รัฐบาลแอลเบเนียสั่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 6,000 นายเข้าดูแลความปลอดภัย และควบคุมการขนส่งหีบเลือกตั้งอย่างเข้มงวด

แอลเบเนียถือเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) แต่ยังมิได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) โดยทางอียูเพิ่งเปิดรับพิจารณาการขอเข้าเป็นสมาชิกของแอลเบเนียเมื่อปีที่แล้ว

ทั้งนี้ แอลเบเนียติดอันดับการเป็นประเทศที่ยากจนข้นแค้นที่สุดของทวีปยุโรป โดยราว 14.3 เปอร์เซ็นต์ของประชากรแอลเบเนียในปัจจุบันมีความเป็นอยู่ย่ำแย่ต่ำกว่า “เส้นความยากจน” ขณะที่อัตราการว่างงาน ปัญหาอาชญากรรม และการทุจริตล้วนเป็นปัญหาใหญ่หลวงที่สะสมอยู่ในสังคมแอลเบเนียมาช้านาน





กำลังโหลดความคิดเห็น