เอเอฟพี - กองทัพฟิลิปปินส์ระบุในวันนี้ (9 มิ.ย.) ว่า ฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นจะจัดการซ้อมรบร่วมทางทะเลครั้งใหม่ในเดือนนี้ ซึ่งถือส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะยกระดับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงของสองประเทศนี้ ในเวลาที่จีนกำลังเดินหน้าพัฒนาหมู่เกาะในน่านน้ำพิพาท
การซ้อมรบร่วมกับกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 22-26 มิถุนายนนี้จะเป็นการซ้อมรบครั้ง 2 ในประวัติศาสตร์ หลังจากเคยมีการซ้อมรบเป็นเวลา 1 วันในพื้นที่ขัดแย้งทะเลจีใต้เมื่อเดือนที่แล้ว พ.อ.เอ็ดการ์ด อาเรวาโล โฆษกกองทัพเรือฟิลิปปินส์ระบุ
เขาจะไม่ระบุว่า การซ้อมรบครั้งใหม่นี้จะถูกจัดขึ้นที่ไหนหรือเรือลำไหนจะเข้าร่วมบ้าง แต่สื่อแดนปลาดิบซึ่งอ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่นิรนามชี้ว่า การซ้อมรบครั้งที่ 2 นี้จะมีขึ้นในทะเลจีนใต้เช่นกัน
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม เรือพิฆาตญี่ปุ่น 2 ลำและกองเรือรบใหม่ล่าสุดของฟิลิปปินส์ได้จัดการซ้อมรบครั้งประวัติศาสตร์ขึ้นห่างจากเกาะปะการังสการ์โบโรห์ที่ฟิลิปปินส์อ้างสิทธิไม่ถึง 300 กิโลเมตร
“การซ้อมรบระหว่างกองทัพเรือทั้งสองชาติครั้งนี้มีเป้าประสงค์เพื่อแบ่งปันยุทธวิธี, เทคนิค และแนวทางใหม่ๆ ตลอดจนการปฏิบัติที่ดีที่สุดในการส่งเสริมปฏิบัติการทางทะเล” เขากล่าว และอธิบายว่าการซ้อมรบครั้งนี้จะประกอบด้วย “การรับรู้ข่าวสารทางทะเล”, การค้นหาและกู้ภัย และการตอบสนองต่อภัยพิบัติ
ประธานาธิบดีเบนิกโญ อากีโน แห่งฟิลิปปินส์ และนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นได้ประกาศในกรุงโตเกียวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า รัฐบาลทั้งสองจะเริ่มการเจรจาสำหรับการถ่ายโอนเทคโนโลยีและอุปกรณ์ด้านการป้องกันประเทศ
ข้อตกลงดังกล่าวอาจรวมถึงการส่งออกยุทโธปกรณ์ของญี่ปุ่นไปยังฟิลิปปินส์ ซึ่งมีเครื่องบินลาดตระเวนต่อต้านเรือดำน้ำและเทคโนโลยีเรดาร์รวมอยู่ด้วย
ผู้นำทั้งสองยังได้แสดง “ความกังวลอย่างจริงจัง” เกี่ยวกับการสร้างเกาะเทียมของจีนในทะเลจีนใต้ ซึ่งพวกเขาระบุว่า เป็นการละเมิดข้อตกลงภูมิภาคปี 2002
อากีโนซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนกรุงโตเกียวอย่างเป็นทางการ ยังได้เปรียบเทียบการกระทำเมื่อไม่นานมานี้ของจีนกับการค่อยๆ รุกรานยุโรปของนาซีเยอรมนีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นาน
อากีโนเป็นหนึ่งในคนที่กล้าวิจารณ์จีนอย่างเปิดเผยมากที่สุดในภูมิภาคนี้ รัฐบาลของเขาได้ร้องขอให้ศาลอาญาระหว่างประเทศตัดสินเรื่องข้อพิพาททางดินแดนระหว่างตนกับจีน
การอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดของจีนทับซ้อนอยู่กับการอ้างสิทธิ์ของฟิลิปปินส์, เวียดนาม, มาเลเซีย, ไต้หวัน และบรูไน ขณะเดียวกัน จีนและญี่ปุ่นก็มีข้อพิพาทกันมานานเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออกที่ญี่ปุ่นครอบครองอยู่