เอเจนซีส์ – ชัยคอ โมซาห์ บินติ นัสเซอร์ พระมารดาของเอมีร์ผู้ปกครองกาตาร์ ทรงตำหนิการเลือกปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐานของโลกตะวันตกซึ่ง “บั่นทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์” ของชาวมุสลิม และทรงคัดค้านคำกล่าวที่ว่าอิสลามยึดติดกับค่านิยมยุคกลาง (medieval) และชี้ว่าการถือกำเนิดของกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงนั้นเป็นผลพวงของโลกยุคใหม่ ไม่ต่างจาก “เรือนจำกวนตานาโม” ของสหรัฐฯ
“เหตุใดชีวิตของชาวมุสลิมจึงดูเหมือนมีค่าน้อยกว่าคนกลุ่มอื่น” เจ้าหญิงผู้ทรงเป็นพระชายาในเอมีร์แห่งกาตาร์พระองค์ก่อนตรัสถาม ระหว่างที่ทรงกล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดศูนย์ตะวันออกกลางแห่งวิทยาลัย เซนต์ แอนโธนี ณ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในอังกฤษ เมื่อวานนี้ (26 พ.ค.) พร้อมทั้งทรงเปรียบเทียบปฏิกิริยาของชาวโลกต่อเหตุกราดยิงนิตยสาร ชาร์ลี เอ็บโด กับการสังหารนักศึกษาชาวมุสลิม 3 คนในรัฐนอร์ทแคโรไลนาของสหรัฐฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์
“ผู้นำทั่วโลกพร้อมใจกันไปเดินขบวนสนับสนุน ชาร์ลี เอ็บโด ที่ปารีส แต่กลับสรุปง่ายๆ ว่าการสังหารนักศึกษามุสลิมที่ ชาแปล ฮิลล์ เป็นเหตุทะเลาะเบาะแว้งในลานจอดรถ... ทำไมจึงเป็นเช่นนี้?”
เจ้าหญิงซึ่งได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในสตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในตะวันออกกลาง ทรงชี้ว่า ความบาดหมางระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตกก่อให้เกิด “ความกลัว และสงสัยทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอิสลาม” และทรงเตือนถึงอันตรายของ “การกดขี่อย่างรุนแรง” ในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงมุมมองเชิงลบที่ชาวตะวันตกมีต่อคนมุสลิมแบบเหมารวม
ชัยคอ โมซาห์ ทรงชี้ว่า แม้ชาวตะวันตกจะสนใจศึกษาวัฒนธรรมอิสลามกันมากขึ้น แต่ในความเป็นจริง “ชาวมุสลิมแท้ๆ” ยังคงถูกมองด้วยอคติเสมอมา พระองค์ทรงเรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า “กระแสเกลียดกลัวมุสลิม” (Muslim-phobia) และทรงมองว่าเป็นคนละอย่างกับ “กระแสเกลียดกลัวอิสลาม” (Islamophobia)
เจ้าหญิงยังทรงตั้งคำถามด้วยว่า โลกาภิวัตน์ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษชาติมีความเป็น “พหุสังคม” มากขึ้นจริงหรือไม่
“คนที่นับถืออิสลามมักถูกจัดเข้ากลุ่ม “มุสลิม” เหมือนกันหมด แทนที่จะมองว่าเขาก็เป็นปัจเจกบุคคล... ไม่ว่าจะเป็นชาวปากีสถาน มาเลเซีย เซเนกัล หรือแม้แต่คนมุสลิมที่เกิดในอังกฤษก็ตาม อัตลักษณ์ที่หลากหลายของพวกเขาถูกรวบเอาไว้ภายใต้เสาแห่งอิสลาม”
พระองค์ทรงชี้ว่า การสร้างอัตลักษณ์แบบเหมารวมเช่นนี้ทำให้มุสลิมดู “น่ากลัวและเข้าไม่ถึง” และก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อผู้เสียชีวิตในสงคราม โดยทรงยกตัวอย่างเด็กๆ และพลเรือนในเยเมนหรือปากีสถานที่เสียชีวิตเพราะถูกโดรนโจมตี ซึ่งกรณีอย่างนี้ “ทุกฝ่ายก็จะเงียบกันไปหมด”
เจ้าหญิงไม่ทรงเห็นด้วยกับคำว่า “ยุคกลาง” (medieval) ที่สื่อมักจะใช้บรรยายพฤติกรรมของพวกสุดโต่งในตะวันออกกลาง โดยทรงชี้ว่า กลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง เช่น รัฐอิสลาม (ไอเอส) คือผลพวงจาก “ความเป็นสมัยใหม่”
“สื่อทั่วโลกมักพูดว่าอิสลามไม่เชื่อเสรีภาพในการแสดงออก และยังยึดติดกับค่านิยมยุคกลาง... ทำไมเราถึงมองว่าคนที่ใช้ความรุนแรงเป็นพวกหลงยุค...หรือล้าสมัย? การปฏิเสธความรับผิดชอบร่วมกันเช่นนี้เป็นแนวคิดที่ไร้เดียงสามาก... อันที่จริง กลุ่มติดอาวุธอย่าง ไอเอส เป็นปรากฏการณ์สมัยใหม่ ไม่แตกต่างจากเรือนจำกวนตานาโมของสหรัฐฯ หรือเรือนจำอบูกราอิบในอิรักเลย... พวกนี้ล้วนเป็นผลผลิตในยุคของเราเองทั้งนั้น”
อย่างไรก็ดี เจ้าหญิงทรงยอมรับว่า วัฒนธรรมการเมืองในประเทศมุสลิมมีส่วนกระตุ้นให้เกิดกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่ง ซึ่งนำหลักศาสนามาใช้เป็น “สโลแกนการเมืองที่ก้าวร้าว” เพราะไม่คำนึงถึงเนื้อหาในด้านจิตวิญญาณ และการตีความที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดอ่อนลึกซึ้ง
ชัยคอ โมซาห์ ทรงเตือนว่า กระแสอาหรับสปริงได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งเสรีภาพขึ้นในใจคน ทว่าอุดมการณ์เหล่านี้ได้ถูก “บดขยี้ด้วยฝ่าเท้า” และการเคลื่อนไหวเรียกร้องนั้นอาจแปรสภาพเป็นการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นได้ไม่ยาก เมื่อความพยายามโค่นอำนาจผู้นำเผด็จการไม่สัมฤทธิ์ผล และผู้คนเริ่ม “สูญเสียความเชื่อมั่น” ในวัฒนธรรมใฝ่สันติของอิสลาม