เอเอฟพี - ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนและข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อาวุโสรายอื่นๆ ออกมาเรียกร้องในวันนี้ (19) ให้ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และไทยรับผู้ลี้ภัยที่ติดอยู่กลางทะเลขึ้นฝั่ง
ถ้อยแถลงของพวกเขาระบุว่า ทั้งสามประเทศและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่มีสมาชิก 10 ประเทศ ควร “ยึดถือการช่วยชีวิตคนเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก ด้วยการยกระดับปฏิบัติการค้าหาและกู้ภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” และ “อำนวยความสะดวกให้กับการขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย”
ถ้อยแถลงระบุว่า ผู้อพยพเหล่านี้ควรได้รับการจัดหาที่พักพิงในพื้นที่ปลอดภัยและในสภาพแวดล้อมที่มีมนุษยธรรม, ควรได้รับการรักษาพยาบาล และจากนั้นก็ควรเข้ารับการคัดกรองรายบุคคลเพื่อระบุว่าพวกเขาจำเป็นต้องได้รับการปกป้องในฐานะผู้ลี้ภัย, ผู้แสวงหาที่พักพิง, คนไร้สัญชาติ หรือเหยื่อการค้ามนุษย์หรือไม่
ถ้อยแถลงฉบับนี้ได้รับการลงนามโดย อันโตนิโอ กูเตอร์เรส ข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ), เซอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, วิลเลียม แอล.สวิง ผู้อำนวยการองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอพยพ (IOM) และ ปีเตอร์ ซูเธอร์แลนด์ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการยูเอ็นด้านการอพยพและการพัฒนาระหว่างประเทศ
อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และไทยถูกประณามจากนานาชาติจากการผลักดันกลับเรือผู้อพยพชาวโรฮีนจาที่สิ้นหวังจากพม่าและบังกลาเทศ ซึ่งในตอนนี้ล่องลอยอยู่กลางทะเลโดยแทบไม่มีเสบียงเหลือและไม่มีที่ไป
ถ้อยแถลงฉบับนี้ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมามีผู้อพยพออกเดินทางทะเลแล้วกว่า 88,000 คน โดยเพียงแค่ 3 เดือนแรกของปีนี้ก็มีมากถึง 25,000 คนแล้ว
“เชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตกลางทะเลแล้วอย่างน้อย 1,000 คน เนื่องจากสภาพการเดินทางที่อันตราย และในจำนวนเท่ากันจากการขาดแคลนสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพและการกระทำทารุณโดยฝีมือของผู้ลักลอบค้ามนุษและย์ผู้ลักลอบขนคนเข้าเมืองที่ต่ำช้า” ถ้อยแถลง ระบุ
ในอ่าวเบงกอล “ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยได้รับอาหารเป็นเพียงข้าวขาวเท่านั้น ทั้งยังตกเป็นเหยื่อความรุนแรง รวมถึงความรุนแรงทางเพศ ผู้หญิงถูกข่มขืน เด็กๆ ถูกแยกจากครอบครัวและถูกทารุณ ผู้ชายถูกทุบตีและถูกโยนลงทะเล”
เจ้าหน้าที่ยูเอ็นระบุว่า กลุ่มประเทศจุดหมายปลายทางควรยุติการกักกันตรวจคนเข้าเมือง และมาตรการลงโทษอื่นๆ อีกทั้งควรปราบปรามกลุ่มลักลอบค้ามนุษย์และต่อสู้กับโรคหวาดกลัวชาวต่างชาติ
ชาวบังกลาเทศเชื่อว่าเป็นผู้อพยพทางเศรษฐกิจเสียส่วนใหญ่ แต่ชาวโรฮีนจาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในพม่านั้นกำลังหลบหนีลี้ภัยจากบ้านเกิดของตนในรัฐยะไข่ทางตะวันตก หลังจากหลายปีของความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติทางศาสนาโดยชาวพุทธที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ ชาวโรฮีนจาแทบทั้งหมดมีจุดหมายปลายทางที่แดนเสือเหลือง
เอเดรียน เอ็ดเวิร์ด โฆษกของ UNHCR บอกกับผู้สื่อข่าวในนครเจนีวาว่า ผู้อพยพจากพม่าและบังกลาเทศเกือบ 4,000 คนยังคงติดอยู่กลางทะเล
“ใน 9 วันที่ผ่านมา มีผู้อพยพขึ้นฝั่งที่อินโดนีเซียแล้วทั้งสิ้น 1,396 คน, มาเลเซีย 1,107 คน และภาคใต้ของไทย 106 คน” เขากล่าว และเสริมว่า “นับตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีรายงานการขึ้นฝั่งในที่อื่นๆ ในภูมิภาคนี้เลย”