xs
xsm
sm
md
lg

ประหารโหด ‘รมว.กลาโหม’สะท้อนถึงความไม่มั่นคงของ ‘ผู้นำคิม’

เผยแพร่:   โดย: โดนัลด์ เคิร์ก

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Brutal killing of N. Korea military chief reflects Kim Jong-Un’s insecurity, high-level discontent
By Donald Kirk
14/05/2015

การประหารชีวิตรัฐมนตรีกลาโหมของเกาหลีเหนือ หลังจากที่เขาแอบงีบในระหว่างการกล่าวคำปราศรัยของ คิม จองอึน ผู้นำโสมแดง คือการสะท้อนให้เห็นความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยอย่างล้ำลึกของตัวผู้นำหนุ่มผู้นี้ ทั้งนี้เขาไม่มีความมั่นใจว่าตนเองสามารถควบคุมเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานระดับอาวุโสและระดับกลางเอาไว้อยู่หมัดแล้ว

การประหารชีวิตหัวหน้าใหญ่ฝ่ายทหารของเกาหลีเหนือ หลังจากที่เขาแอบงีบในระหว่างการกล่าวคำปราศรัยของ คิม จองอึน ผู้นำโสมแดง คือการสะท้อนให้เห็นความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยอย่างล้ำลึกของตัวผู้นำหนุ่มผู้นี้เอง ทั้งนี้เขาไม่มีความมั่นใจว่าตนเองสามารถควบคุมชนชั้นนำที่หัวแข็งของขบวนแถวเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานระดับอาวุโสและระดับกลางเอาไว้อยู่หมัดแล้ว

ปมสำคัญของความขัดแย้งกันในเปียงยาง ดูเหมือนจะโฟกัสอยู่ตรงที่ว่า คิมเคลื่อนไหวอย่างหุนหันพลันแล่นในการไต่ระดับความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ทั้งนี้มีการเผยแพร่ภาพถ่ายที่ผู้นำหนุ่มผู้นี้กำลังหัวเราะร่า ในขณะที่เขาไปเฝ้าชมการทดสอบยิงขีปนาวุธหลายต่อหลายหน โดยที่ครั้งหลังที่สุดก็คือในระหว่างที่มีการยิงสิ่งซึ่งเปียงยางอวดอ้างว่า เป็นขีปนาวุธนำวิถียิงจากเรือดำน้ำ (submarine-launched ballistic missile หรือ SLBM)

พวกนักวิเคราะห์ด้านกลาโหมในวอชิงตันพากันตั้งคำถามว่า ขีปนาวุธดังกล่าวถูกยิงออกมาจากเรือดำน้ำจริงๆ หรือเปล่า ทั้งนี้พวกเขาเห็นว่ามันอาจจะเป็นเพียงแค่สิ่งประดิษฐ์บรรจุวัตถุระเบิดแรงสูง ซึ่งสามารถให้ภาพชวนเชื่อน่าประทับใจ ก่อนที่มันจะตกกลับลงไปในทะเล ไม่ห่างจากจุดที่มันถูกยิงขึ้นมา ในทำนองเดียวกัน การทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือซึ่งกระทำค่อนข้างเป็นประจำทีเดียวในระยะหลายเดือนหลังๆ มานี้ ก็มุ่งเพื่อให้เกิดผลในทางตื่นเต้นมากกว่ามีวัตถุประสงค์ที่จริงจังอะไร

สิ่งที่ ฮยอน ยองโชล (Hyon Yong-Chol) รัฐมนตรีว่าการกองทัพประชาชน (minister of the People’s Armed Forces) หรือก็คือ รัฐมนตรีกลาโหม ผู้อยู่ในวัย 66 ปี ได้กระทำลงไปแล้วทำให้ คิม จองอึน เป็นเดือดเป็นแค้นนักหนาคืออะไรกันแน่ ยังไม่เป็นที่ชัดเจน แต่ตามที่อนุมานกันก็คือ เขาไม่เพียงแสดงความดูหมิ่นผู้นำหนุ่มผู้นี้เท่านั้น หากยังอาจจะไม่เห็นพ้องกับเขาในจุดสำคัญยิ่งยวดหลายๆ จุด

เป็นที่เชื่อกันว่า ฮยอน ได้ทำการต่อสู้คัดค้านอำนาจหน้าที่ของ ฮวาง พยองโซ (Hwang Pyong-So) ผู้บัญชาการใหญ่ฝ่ายการเมือง (director of the general political department) ของกองทัพเกาหลีเหนือ ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า กองทัพประชาชนเกาหลี (Korean People’s Army) ทั้งนี้ในกองทัพโสมแดงนั้น ผู้บัญชาการใหญ่ฝ่ายการเมืองเป็นผู้ที่มีอำนาจใหญ่โตกว้างขวางยิ่ง ความขัดแย้งระหว่าง ฮวาง กับพวกผู้นำทางทหารนั้นมีการพูดกันถึงอย่างหนาหู เนื่องจาก ฮวาง เป็นข้าราชการอาชีพที่ได้รับแต่งตั้งอวยยศให้เป็น “รองจอมพล” (vice marshal) ชนิดข้ามห้วยมาโดยมิได้มีการไต่เต้าไปตามยศตามตำแหน่งอย่างปกติ

สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ (National Intelligence Service ใช้อักษรย่อว่า NIS) ของเกาหลีใต้ ระบุในการบรรยายสรุปต่อพวกสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (National Assembly) ในกรุงโซลว่า ฮยอนนั่งโดยตาปิดเหมือนงีบหลับอยู่บนเวทียกพื้นซึ่งหันหน้าหาผู้ฟัง ในงานพิธีงานหนึ่งจากจำนวนหลายๆ งาน ซึ่งผู้นำคิมกล่าวยกย่องเชิดชูกองทัพอย่างเฟี้ยวฟ้าวฟุ่มเฟือยด้วยความสนิทสนม พร้อมกับกระตุ้นแนะนำให้บรรลุความสำเร็จที่ใหญ่หลวงขึ้นไปอีก

เกาหลีเหนือยังไม่เคยประกาศเรื่องการประหารชีวิตนี้ แต่ NIS ซึ่งคอยรวบรวมข้อมูลจากสายข่าวต่างๆ อย่างกว้างขวาง ดูเหมือนว่าจะสามารถเชื่อถือได้ เมื่อกล้าเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเช่นนี้ออกมา คำถามมีอยู่ว่าทำไม คิม จองอึน จึงสั่งกำจัด ฮยอน ทั้งๆ ที่ ฮยอน เพิ่งเดินทางกลับมาจากการประชุมความมั่นคงระหว่างประเทศในกรุงมอสโก ซึ่ง ณ ที่นั่นเขาถูกถ่ายภาพที่แสดงให้เห็นเขาสวมเครื่องแบบทหารที่มีแถบเหรียญตราประดับอยู่บนหน้าอกหลายแถว

คำตอบของคำถามนี้ ในความเห็นของ ชอย จินวูค (Choi Jin-Wook) ประธานของสถาบันการรวมชาติเกาหลี (Korea Institute of National Unification) นั้น อยู่ที่ว่าคิมกำลังรู้สึกไม่มั่นคงมากขึ้นทุกที ในบรรยากาศสภาพแวดล้อมของความไม่พอใจในเปียงยาง ท่ามกลางผู้ปฏิบัติงานจำนวนมากซึ่งเติบโตขึ้นสู่อำนาจในยุคของ คิม จองอิล ผู้บิดาของเขาที่เสียชีวิตไปในปี 2011 การประหารชีวิต ฮยอน ซึ่งเป็นรายล่าสุดในการกำจัดกวาดล้างผู้ปฏิบัติงานระดับสูงและระดับกลางที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง “คือสัญญาณประการหนึ่งของความอ่อนแอของระบอบปกครองนี้” ชอย บอกกับผู้เขียน “ถ้าหากพวกเขาเข้มแข็งเพียงพอแล้ว พวกเขาก็ไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะฆ่าเขา”

คิม จองอึน ซึ่งในภาพถ่ายและวิดีโอเทปที่นำออกเผยแพร่โดยสำนักข่าวกลางเกาหลี (Korean Central News Agency หรือ KCNA) ของเปียงยาง จะเห็นเขายิ้มแย้มหัวเราะร่าในเวลาไปตรวจงานตามที่ต่างๆ นั้น มีรายงานว่าเขาสามารถที่จะโกรธกริ้วระเบิดอารมณ์ได้ง่ายๆ ถ้าหากพบเห็นสัญญาณใดๆ ของการไม่เห็นด้วย และยิ่งมีความอดทนต่ำกว่านั้นอีกถ้าหากเป็นเรื่องไม่เชื่อฟังคำสั่ง

ตามการเปิดเผยของ NIS เขาสั่งประหารชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อยที่สุด 15 รายในระยะไม่กี่เดือนหลังมานี้ และอย่างน้อยที่สุด 75 รายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

สำนักข่าวยอนฮัป (Yonhap) ของเกาหลีใต้ รายงานข่าวโดยอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ผู้ไม่มีการระบุนามผู้หนึ่ง ซึ่งแสดงความเห็นพ้องว่ามี “ความสงสัยข้องใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับความเป็นผู้นำของคิม ในหมู่เจ้าหน้าที่อาวุโสของเกาหลีเหนือ” ผลก็คือ “คิมต้องอาศัยการปกครองแบบเหี้ยมโหดสยดสยองมากขึ้นทุกที ด้วยการกำจัดพวกเขาฐานเพิกเฉยละเลยระเบียบปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม” ยอนฮัปอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่รายนี้ในอีกตอนหนึ่ง

การประหารชีวิต ฮยอน ถือเป็นการสังหารเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่สุด ภายหลังจากการกำจัด จาง ซองเต็ก (Jang Song-thaek) ซึ่งมีฐานะเป็นผู้นำหมายเลขสองของเกาหลีเหนือเมื่อปี 2013

จางมีศักดิ์เป็นอาเขยของคิม เนื่องจากแต่งงานกับน้องสาวของ คิม จองอิล บิดาของคิม จองอึน เขาได้สั่งสมความผูกพันทางเศรษฐกิจกับจีนเอาไว้อย่างเข้มแข็ง ขณะที่ดูหมิ่นคิมหนุ่มว่าไร้ประสบการณ์หรือกระทั่งไร้ความสามารถ ความผิดที่จางถูกกล่าวหานั้น ก็เข้าทำนองเดียวกับ ฮยอน ที่ถูกหาว่ากำลังงีบหลับในขณะที่ คิม ปรากฏตัวอยู่ตรงนั้นด้วย โดยที่ จาง ก็ถูกกล่าวหาว่าปรบมืออย่างเปาะแปะไม่จริงจังในงานพิธีของรัฐอีกงานหนึ่ง --โดยที่รายละเอียดเช่นนี้ถูกอ้างอิงไว้ในคำแถลงประณามจาง ของทางการเกาหลีเหนือ

เวลานี้ยังคงเป็นปริศนาลี้ลับว่า คิม คยองฮุย (Kim Kyong-Hui) ภริยาหม้ายของจาง และก็เป็นอาหญิงของคิม จองอิลนั้น ประสบชะตากรรมเช่นใดไปแล้ว เธอไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นเวลา 8 เดือน มีข่าวลือต่างๆ นานาตั้งแต่ที่ว่าเธอถูกวางยาพิษเสียชีวิต, ฆ่าตัวตาย, ป่วยหนัก, หรือถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ภายในบ้านชนิดไม่ให้ติดต่อกับใครทั้งสิ้น หลังจากที่เธอโวยวายอย่างขมขื่นเรื่องที่สามีของเธอถูกประหารชีวิต

ถ้าหากเราเชื่อตามรายงานของสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติของเกาหลีใต้แล้ว สภาพการสิ้นชีวิตของ ฮยอน นั้นเป็นไปอย่างหฤโหดยิ่ง ทั้งนี้รายงานซึ่งถูกเผยแพร่ต่อออกไปอย่างกว้างขวางของ NIS นั้น ฮยอน ถูกสังหารด้วยกระสุนปืนต่อสู้อากาศยาน ท่ามกลางการเฝ้าชมของผู้คนหลายร้อยคน ณ โรงเรียนทหารแห่งหนึ่งใกล้ๆ กรุงเปียงยางเมื่อตอนสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

มีภาพถ่ายจากดาวเทียมซึ่งแสดงให้เห็นลานยิงปืนในโรงเรียนทหารแห่งนั้น โดยที่มีการตั้งปืนต่อสู้อากาศยานเรียงเป็นแถว ซึ่งเล็งยิงไปยังเป้าหมายที่อยู่ห่างออกไปเพียงแค่ 30 เมตร ลานประหารแห่งนี้เองเป็นที่เชื่อกันว่าได้สังหารศัตรูของระบอบปกครองนี้ไปหลายรายแล้ว หนึ่งในนั้นได้แก่ มา วอนชุน (Ma Won-Chun) ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผน (director of the planning department) ของคณะกรรมาธิการป้องกันชาติ (National Defense Commission) องค์กรที่ถือเป็นศูนย์กลางอำนาจในเกาหลีเหนือ

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ที่ไต่เต้าขึ้นสู่ระดับสูงสุดในแวดวงกองทัพเกาหลีเหนือนั้นไม่มีความปลอดภัยและต้องเสี่ยงอันตรายมาก เมื่อ 3 ปีก่อน รี ยองโฮ (Ri Yong-Ho) ซึ่งตอนนั้นมียศเป็นรองจอมพล และเป็นรัฐมนตรีของกองทัพประชาชนเกาหลี ได้ถูกถอดจากตำแหน่งทุกตำแหน่งอย่างไร้เกียรติ รวมทั้งตำแหน่งสมาชิกในคณะประธานของกรมการเมืองของพรรคด้วย ฮยอน คือผู้ที่ได้รับเลือกเลื่อนขึ้นแทนที่เขา

มีรายงานข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยันในเวลาต่อมาระบุว่า รีก็ถูกประหารชีวิต –ด้วยกระสุนปืนครกซึ่งยิงใส่เขาแบบจ่อๆ เพื่อลบร่องรอยทุกอย่างเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของเขา

โดนัลด์ เคิร์ก เป็นนักหนังสือพิมพ์ผู้คร่ำหวอดอยู่ในเอเชีย หนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของเขาคือเรื่อง Okinawa and Jeju: Bases of Discontent ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Palgrave Macmillan เมื่อปลายปี 2013 เขายังคงเขียนเรื่องส่งให้ CBS News/Radio และ forbes.com รวมทั้งเขียนคอลัมน์ให้ The Korea Times, WorldTribune.com, และ Future Korea Weekly
กำลังโหลดความคิดเห็น