xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ จี้ไทย-อินโดฯ-มาเลย์จับมือช่วยชีวิตผู้อพยพลอยเรือกลางอันดามัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - สหรัฐฯ เมื่อวันพฤหัสบดี (14 พ.ค.) เรียกร้องเหล่าชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นไทย อินโดนีเซียและมาเลเซีย ร่วมมือกันปกป้องชีวิตผู้อพยพหลายร้อยคนที่ถูกขบวนการค้ามนุษย์ทิ้งไว้ในเรือสภาพง่อนแง่นทรุดโทรมกลางทะเลอันดามัน

นายเจฟฟ์ รัทเค โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า “เรามีความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว เราเรียกร้องประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ร่วมมือกันปกป้องหลายชีวิตที่อยู่กลางทะเล”

เหล่าเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในภูมิภาคกำลังประสานงานกับองค์กรทั้งหลายของสหประชาชาติและรัฐบาลชาติต่างๆ ในอาเซียน ที่ไม่อนุญาตให้ผู้อพยพที่เต็มไปด้วยความสิ้นหวังเข้าเหล่านี้ขึ้นฝั่ง เพื่อหารือถึงแนวทางมอบความช่วยเหลือ “มีหลายชีวิตที่ตกอยู่ในอันตราย เราคิดว่าเป้าหมายลำดับแรกคือปกป้องชีวิต และเราเรียกร้องรัฐบาลชาติต่างๆ เดินหน้าจัดสรรที่อยู่แก่ผู้คนที่ติดอยู่กลางทะเล”

เรือลำหนึ่งที่อัดแน่นไปด้วยชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮีนจาจากพม่าหลายร้อยคน ในนั้นจำนวนมากเป็นผู้หญิงและเด็ก ถูกพบบริเวณน่านน้ำไทยในวันพฤหัสบดี (14 พ.ค.) ส่วน มาเลเซีย ส่งกลับเรือ 2 ลำที่บรรทุกผู้อพยพรวมกัน 600 คน

มาเลเซียและอินโดนีเซียประกาศกร้าวว่าจะสกัดกั้นเรือที่บรรทุกผู้อพยพที่สิ้นหวังจากพม่าและบังกลาเทศ หลังจากที่ผู้อพยพทางเรือเกือบ 2,000 คนได้รับการช่วยเหลือหรือว่ายมาขึ้นฝั่งเมื่อต้นสัปดาห์นี้

ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และบรรดากลุ่มสิทธิต่างแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายดังกล่าว และระบุว่า เชื่อว่ามีผู้อพยพชาย หญิง และเด็กหลายพันคนถูกปล่อยทิ้งไว้กลางทะเลในสภาพน่าสังเวช หลังจากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ไทยทำให้เส้นทางลักลอบขนคนเข้าเมืองที่ใช้มานานเสียกระบวน

ส่วนนายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติในวันพฤหัสบดี (14 พ.ค.) เรียกร้องประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่าส่งกลับเรือผู้อพยพเหล่านั้น โดยบอกว่าการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพทางทะเลเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศ

นายรัทเคย้ำว่า นี่คือความท้าทายเร่งด่วนระดับภูมิภาค ที่จำเป็นต้องจัดการผ่านความร่วมมือของนานาชาติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศและกฎหมายพาณิชยนาวี “เราคาดหวังว่าบางประเทศในภูมิภาคจะรับผู้อพยพ และยินดีต่อแผนของไทยที่จะจัดประชุมระดับภูมิภาคในประเด็นนี้ ในวันที่ 29 พฤษภาคม”


กำลังโหลดความคิดเห็น