เอเอฟพี - สวนสัตว์ญี่ปุ่นได้รับคำสั่งจากนายกเทศมนตรีประจำเมืองให้ใช้ชื่อลูกลิงตัวใหม่ว่า “ชาร์ล็อตต์” ตามเดิม แม้จะมีเสียงติเตียนเรื่องความไม่เหมาะสมที่ไปตั้งชื่อพ้องกับ “เจ้าหญิงชาร์ล็อตต์” พระธิดาองค์น้อยของเจ้าชายวิลเลียมแห่งสหราชอาณาจักรที่เพิ่งประสูติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
สวนลิงป่าภูเขาทากาซากิในจังหวัดโออิตะได้รับเสียงตำหนิติเตียนอย่างหนัก หลังจากประกาศเมื่อวันพุธ (6 พ.ค.) ว่า ลูกลิงแสมตัวใหม่ที่เกิดในสวนสัตว์แห่งนี้ได้รับการโหวตชื่อ “ชาร์ล็อตต์” ตามพระนามเจ้าหญิงน้อยแห่งอังกฤษ
หลังจากเรื่องนี้กลายเป็นข่าวพาดหัวทั่วโลกในวันพฤหัสบดี (7) ทางสวนสัตว์ก็ได้ออกมาขออภัยหากทำให้เจ้าชายวิลเลียมและพระชายาแคทเธอรีนไม่พอพระทัย
ตลอด 2 วันมีประชาชนกว่า 500 คนติดต่อไปยังสวนสัตว์เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการตั้งชื่อลูกลิงว่า “ชาร์ล็อตต์” โดยกลุ่มแรกๆ ที่ร้องเรียนเห็นว่าควรเปลี่ยนไปใช้ชื่ออื่นแทน
“ผู้ที่ส่งความคิดเห็นที่เข้ามาในช่วงแรกๆ ส่วนมากจะบอกว่าเป็นการไม่เคารพชาวอังกฤษ แต่หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนที่สนับสนุนชื่อนี้เพิ่มขึ้น บางคนบอกว่ามันโอเค เพราะลูกลิงตัวนี้น่ารักมาก” เจ้าหน้าที่ในจังหวัดโออิตะซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น กล่าว
ขณะที่กระแสถกเถียงเริ่มลามไปยังสื่อทุกแขนงทั้งโลกออนไลน์ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็ได้ติดต่อไปยังสถานทูตอังกฤษในกรุงโตเกียวเพื่อขอคำปรึกษา ทว่าไม่ได้รับคำตอบใดๆ
ผู้ที่เข้ามายุติเรื่องนี้ได้ก็คือ คีจิโร ซาโตะ นายกเทศมนตรีประจำเมืองโออิตะ ซึ่งตัดสินให้ลูกลิงใช้ชื่อ “ชาร์ล็อตต์” ต่อไป
“ผมว่าชื่อ ชาร์ล็อตต์ ที่ประชาชนตั้งให้ลูกลิงตัวนี้เป็นชื่อที่น่ารัก และผมก็ไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไร เพราะฉะนั้นเราจะใช้ชื่อ ชาร์ล็อตต์ นี่แหละ” ซาโตะ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน
สังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อการรักษาน้ำใจผู้อื่นเพื่อคงไว้ซึ่ง “วะ” หรือ “ความสงบสุขปรองดอง” และค่านิยมเช่นนี้เองที่ทำให้การตัดสินใจในประเด็นปัญหาบางอย่างต้องใช้เวลามาก ดังเช่นกรณีของลูกลิงตัวนี้ที่ใช้เวลาเถียงกันถึง 2 วันกว่าจะได้ข้อสรุป
สวนลิงป่าภูเขาทากาซากิมีธรรมเนียมให้สาธารณชนโหวตตั้งชื่อลูกลิงแสมที่เกิดเป็นตัวแรกของปี โดยปีนี้มีผู้โหวตทั้งสิ้น 853 คน และชื่อที่มาแรงที่สุดก็คือ “ชาร์ล็อตต์” ตามพระนามเจ้าหญิงแห่งอังกฤษที่ประสูติเมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา
ผู้ที่คัดค้านชื่อ “ชาร์ล็อตต์” ชี้ว่าเป็นการไม่เหมาะสมที่จะตั้งชื่อลิงให้ไปพ้องกับเจ้านายต่างชาติ บางคนถึงกับยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่า หากสวนสัตว์อังกฤษเอาชื่อสมาชิกราชวงศ์อิมพีเรียลไปตั้งชื่อสัตว์บ้าง ชาวแดนอาทิตย์อุทัยก็คงรับไม่ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ความเห็นที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ชั้นนำของอังกฤษกลับบ่งชี้ว่า ชาวอังกฤษบางคนไม่ได้มองประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่โต
“เอาจริงๆ นะ ไม่เห็นจะน่าสนใจตรงไหน... คราวหน้าตั้งชื่อ จอร์จ ก็ได้ มันไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับพวกเราสักนิด” เจ้าของชื่อ Zeeeel แสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ดยุคและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ทรงเป็นที่มาของชื่อสัตว์ต่างๆ เมื่อครั้งที่ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ เยือนออสเตรเลียในปีที่แล้วพร้อมกับ “เจ้าชายจอร์จ” วัย 3 เดือน ก็ทรงพบว่าทางสวนสัตว์ได้ตั้งชื่อบิลบี (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง) ตัวหนึ่งว่า “จอร์จ” เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าชายน้อย