xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: เนปาลปิดฉาก “ค้นหา-ช่วยชีวิต” เหยื่อดินไหว-จ่อระดมทุนฟื้นฟู $2,000 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 80 ปีของเนปาลจะผ่านไปแล้วเกือบ 2 สัปดาห์ แต่รัฐบาลยังคงมีภารกิจหนักในการฟื้นฟูบ้านเมืองที่เสียหาย ตลอดจนช่วยเหลือเยียวยาพลเมืองอีกนับล้านคนที่ประสบกับความสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิต ขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของดินแดนพุทธภูมิกลางเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้ยังคงเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายกังวล

หลายสิบชาติร่วมแรงร่วมใจส่งทีมกู้ภัยเข้าไปช่วยค้นหาผู้รอดชีวิตที่อาจติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ตามมาตราแมกนิจูเมื่อวันที่ 25 เม.ย. ซึ่งจัดว่าเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศเล็กๆ แห่งนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1934 เป็นต้นมา

จากข้อมูลล่าสุดเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ ยอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวในเนปาลพุ่งเฉียด 7,700 คน และบาดเจ็บกว่า 16,300 คน ซึ่งนายกรัฐมนตรี สุชิล คอยราลา แห่งเนปาล ได้คาดการณ์ไว้ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจพุ่งทะลุหลักหมื่น

ผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวต่างชาติมีจำนวนอย่างน้อย 58 คน บาดเจ็บ 52 คน และยังมีอีก 112 คนสูญหายไม่ทราบชะตากรรม

รัฐบาลเนปาลร้องขอให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยต่างชาติปิดฉากภารกิจค้นหาและช่วยชีวิตหลังเหตุการณ์ผ่านไปได้ 9 วัน เนื่องจากเชื่อว่าไม่มีโอกาสพบผู้รอดชีวิตอีกแล้ว

“เจ้าหน้าที่ค้นหาและช่วยชีวิตสามารถเดินทางกลับได้ทันที แต่ถ้าพวกเขามีความเชี่ยวชาญเรื่องวิธีจัดการซากปรักหักพัง จะอยู่ช่วยเหลือต่อไปก็ได้” ราเมศวร ดันกาล เจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทยเนปาลให้สัมภาษณ์เมื่อวันจันทร์ (4)

หลายประเทศได้เสนอที่จะร่วมบริจาคเงินเพื่อซ่อมแซมอาคารบ้านเรือน โรงพยาบาล และโบราณสถานเก่าแก่ในเนปาลที่พังเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดียได้จัดหารถบรรทุกนำข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นไปแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย และยังส่งเฮลิคอปเตอร์ช่วยอพยพประชาชนออกจากหมู่บ้านห่างไกลด้วย

ระหว่างประชุมร่วมกับเอกอัครราชทูตกว่า 20 ประเทศที่กรุงกาฐมาณฑุ มเหนทรา บาฮาดูร์ ปันเดย์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเนปาล ได้แถลงแผนการของรัฐบาลที่จะจัดตั้งกองทุนบูรณะและฟื้นฟูประเทศ (Reconstruction and Rehabilitation Fund) โดยมีเป้าหมายระดมเงินทุนให้ได้ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมวิงวอนให้ทูตต่างประเทศแจ้งกลับไปยังรัฐบาลของพวกเขาให้ช่วยสนับสนุนโครงการนี้ด้วย

“รัฐบาลเนปาลได้อนุมัติวงเงิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นทุนตั้งต้น ผมมั่นใจว่าหากประชาคมโลกแสดงน้ำใจด้วยการบริจาคสมทบกองทุนนี้ ก็จะช่วยสนับสนุนกระบวนการบูรณะและฟื้นฟูเนปาลได้เป็นอย่างมาก” กระทรวงการต่างประเทศเนปาลอ้างคำแถลงของ ปันเดย์

กระทรวงมหาดไทยเนปาล แถลงว่า แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 25 เม.ย. เป็นเหตุให้อาคารบ้านเรือนถูกทำลายย่อยยับอย่างน้อย 200,552 หลัง เสียหายบางส่วนอีก 186,285 หลัง ส่วนข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ ระบุว่า มีชาวเนปาลราว 8 ล้านคนจากทั้งหมด 28 ล้านคนได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว และอย่างน้อย 2 ล้านคนต้องการเต็นท์ที่พัก น้ำดื่ม อาหาร และยารักษาโรค สำหรับระยะเวลา 3 เดือนข้างหน้า

หวั่นมิจฉาชีพ “ขโมย” โบราณวัตถุ

อานุภาพของแผ่นดินไหวทำให้สถูปสวยัมภูนาถซึ่งเป็นศาสนสถานที่เก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ที่สุดตามความเชื่อของชาวเนปาลเสียหายบางส่วน แต่ก็มีเจดีย์และรูปปั้นบางองค์ที่เหลือรอดมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ อย่างไรก็ตาม โบราณวัตถุล้ำค่าเหล่านี้กำลังเสี่ยงตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพ หรือไม่ก็ผู้ศรัทธาที่หวังจะได้เศษชิ้นส่วนอันศักดิ์สิทธิ์กลับไปเป็นเครื่องรางนำโชค หลังเผชิญภัยพิบัติร้ายแรง

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยประเมินความเสียหายที่เกิดกับวัดอันเป็นมรดกโลก รวมถึงหาทางปกป้องโบราณวัตถุไม่ให้ถูกขโมยไปขาย

เดวิด อันดอลฟัตโต นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ซึ่งอยู่ในทีมของยูเนสโก ระบุว่ารู้สึกกังวลเป็นพิเศษในช่วงวันวิสาขบูชาซึ่งเนปาลถือตรงกับวันจันทร์ที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา

“รูปปั้นส่วนใหญ่ที่มีขนาดเล็กและปั้นจากดินเหนียวยังมีสภาพสมบูรณ์อยู่มาก และง่ายต่อการซุกซ่อน ผมเกรงว่าประชาชนที่มาทำบุญอาจจะถือโอกาสนำชิ้นส่วนเหล่านี้ติดตัวไป เพราะวัดนี้เป็นวัดใหญ่ที่ชาวเนปาลและทิเบตให้ความศรัทธากันมาก”

ปัญหาการลักลอบขโมยงานศิลปะเกิดขึ้นแพร่หลายในเนปาลอยู่แล้ว แต่เศษโบราณวัตถุจากวัดสวยัมภูนาถ หรือ “วัดลิง” เป็นเสมือนขุมทรัพย์สำหรับพวกโจรมืออาชีพที่จะนำของไปขายทอดตลาดในต่างประเทศ ดังนั้นคณะผู้เชี่ยวชาญและอาสาสมัครจึงต้องถ่ายภาพและจัดทำบัญชีหมวดหมู่โบราณวัตถุที่พบให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในความสูญเสียครั้งใหญ่ยังพอมีข่าวดีอยู่บ้าง เพราะสถูปสีขาวที่มีรูปดวงตาเห็นธรรมซึ่งเป็นดั่งสัญลักษณ์ของวัดไม่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว และยังมีการค้นพบโบราณวัตถุแปลกๆ เช่น รูปปั้นขนาดเล็กคล้ายตุ๊กตาบาบุชกาของรัสเซียที่ซ่อนอยู่ในเจดีย์องค์หนึ่งซึ่งถล่มลงมา รวมถึงเหรียญที่มีจารึกภาษาเปอร์เซีย ซึ่งสร้างความตื้นเต้นต่อบรรดานักประวัติศาสตร์ไม่น้อย

ฤดูพิชิต “เอเวอเรสต์” ส่อแววชะงัก

สำนักงานการท่องเที่ยวเนปาลพยายามเชิญชวนนักปีนเขาทั่วโลกให้เดินทางขึ้นไปพิชิตยอดเอเวอเรสต์ได้ตามปกติ โดยยืนยันว่าเจ้าหน้าที่กำลังเร่งซ่อมแซมบันไดข้ามธารน้ำแข็งและเคลียร์เส้นทางที่เสียหายจากแผ่นดินไหว พร้อมย้ำว่าไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่าจะเกิดแผ่นดินไหวหรืออาฟเตอร์ช็อกรุนแรงขึ้นอีก แต่ดูเหมือนคำปลอบใจเหล่านี้จะยังใช้ไม่ได้ผล

เหตุการณ์หิมะถล่มซึ่งคร่าชีวิตนักปีนเขา 18 คนที่เบสแคมป์บนเส้นทางขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ทำให้ผู้ประกอบการจัดทัวร์ปีนเขาหลายบริษัทยกเลิกกิจกรรมพิชิตยอดเขาสูงที่สุดในโลกในฤดูใบไม้ผลิปีนี้ เพราะไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดอาฟเตอร์ช็อก หรืออันตรายรูปแบบอื่นๆ ระหว่างทางขึ้นสู่ยอดเขา

“หากยังคงมีอาฟเตอร์ช็อกและแรงสั่นสะเทือนตามมาเรื่อยๆ เช่นนี้ เราก็พานักปีนเขาขึ้นไปไม่ได้” ดาวา สตีเวน เชอร์ปา จากบริษัท เอเชียน เทร็กเกอร์ส ในกรุงกาฐมาณฑุ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพี โดยตัวเขาเองนั้นเคยพิชิตยอดเอเวอเรสต์ความสูง 8,848 เมตรมาแล้ว 2 ครั้งในชีวิต

“ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งเชือกและบันไดสำหรับปีนเขาล้วนไม่อยู่ในสภาพที่ใช้การได้สักอย่าง เพราะฉะนั้นไม่มีประโยชน์ที่จะดึงดันพาคนขึ้นไปในฤดูกาลนี้”

บริษัท อินเตอร์เนชันแนล เมาน์เทน ไกด์ส ในสหรัฐฯ และ เซเวน ซัมมิตส์ ในเนปาล ก็แสดงความกังวลเช่นกัน ขณะที่บริษัทปีนเขาชั้นนำอย่าง ไฮเม็กซ์ ก็ประกาศยกเลิกทัวร์ปีนยอดเอเวอเรสต์แล้ว

“สมาชิกของเราทุกคนกำลังเดินทางลงมา จะไม่มีการขึ้นไปอีกจนกว่าเส้นทางจะเรียบร้อย และมีอุปกรณ์ทุกอย่างพร้อมสำหรับนักปีนเขา” ทีมดิง เชอร์ปา จาก ไฮเม็กซ์ ระบุ

ดินไหวกระพือวิกฤตขาดแคลน “คนหนุ่ม”

ตามธรรมเนียมฮินดู บุตรชายคนโตของผู้ตายจะต้องเป็นผู้จุดไฟที่เชิงตะกอนเผาศพ แต่เนื่องจากเหยื่อแผ่นดินไหวชาวเนปาลจำนวนมากอยู่ในวัยหนุ่มสาวเกินกว่าจะมีครอบครัวหรือมีบุตร ศพของพวกเขาจึงต้องถูกฌาปนกิจโดยพี่ชาย น้องชาย หรือบิดาแทน

หมู่บ้านตามชนบทของเนปาลประสบปัญหาขาดแคลนชายฉกรรจ์มาตั้งแต่ก่อนเกิดแผ่นดินไหว เนื่องจากคนหนุ่มนิยมออกไปหางานทำในต่างประเทศ เช่น อินเดีย มาเลเซีย หรือกลุ่มประเทศแถบอ่าวอาหรับ นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า บางช่วงเวลาของปีพลเมืองเนปาลจะออกไปทำงานนอกประเทศถึง 1 ใน 3

แม้ในช่วงนี้คนหนุ่มๆ อาจจะง่วนอยู่กับภารกิจกู้ภัย บางส่วนอาจหวนกลับบ้านเกิดเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย แต่เมื่อไม่มีงานทำ พวกเขาก็ต้องเลือกวิธีหารายได้ที่ดีที่สุด ซึ่งก็คือการไปทำงานต่างประเทศเพื่อส่งเงินกลับมาบ้าน

นักเศรษฐศาสตร์เตือนให้รัฐบาลเนปาลเน้นนโยบายสร้างงาน เพราะหากคนหนุ่มสาวไหลออกไปทำงานต่างประเทศกันหมดหลังจากที่ภารกิจบรรเทาทุกข์สิ้นสุดลง จะยิ่งบั่นทอนศักยภาพในการฟื้นฟูประเทศ

“รัฐบาลควรจัดโครงการช่วยเหลือด้านอาชีพ หากต้องการดึงแรงงานวัยหนุ่มเหล่านี้เอาไว้” จันทัน สัปโกตา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) สาขากรุงกาฐมาณฑุเผย

“อย่างไรเสียเราก็จำเป็นต้องมีแรงงานไถหว่านปลูกข้าว หากรัฐบาลให้แรงจูงใจที่ดีพอ พวกคนหนุ่มก็จะยอมอยู่ในหมู่บ้านตัวเองต่อไป แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องกระทำอย่างเร่งด่วน”

เตือน “ผู้หญิง-เด็ก” ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์

ผลพวงจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทำให้ชาวเนปาลจำนวนมากต้องไร้ที่อยู่อาศัย ซึ่งในเรื่องนี้ทางเอ็นจีโอซึ่งทำงานด้านป้องกันการค้ามนุษย์เด็กเตือนว่า พบเห็นกรณีต้องสงสัยเพิ่มขึ้นตามแนวชายแดนติดกับอินเดีย ซึ่งในอดีตเคยถูกใช้เป็นเส้นทางลำเลียงผู้หญิงและเด็กจากเนปาลเข้าสู่การค้าทาสและบังคับขายตัว

วงจรว่างงาน ความยากจน เลือกปฏิบัติทางเพศ และผลกระทบจากความไม่สงบของลัทธิเหมาที่ยืดเยื้อกว่า 10 ปี ทำให้เด็กและผู้หญิงเนปาลตกเป็นเป้าหมายพวกค้ามนุษย์ได้ง่ายขึ้น โดยจากรายงานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของเนปาลเมื่อปี 2013 พบการค้ามนุษย์หรือพยายามค้ามนุษย์มากถึง 29,000 กรณี




กำลังโหลดความคิดเห็น