รอยเตอร์ - ภูเขาไฟคาลบูโก ทางภาคใต้ของชิลี ซึ่งปะทุ 2 ครั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกิดปะทุขึ้นมาอีกครั้งในวันพฤหัสบดี (30 เม.ย.) พ่นเถ้าถ่านและแก๊สลอยลิ่วขึ้นสู่ท้องฟ้า กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ต้องเรียกประชุมฉุกเฉินเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ภูเขาไฟคาลบูโกพ้นเถ่าถ้านออกมามากกว่า 200 ตัน เข้าปกคลุมเมืองต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ก่อความเสียหายบางส่วนแก่อุตสาหกรรมปลาแซลมอน และทำให้ต้องยกเลิกเที่ยวบินไกลสุดถึงกรุงบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของอาร์เจนตินา ที่อยู่ห่างออกไปราว 1,400 กิโลเมตร
จากนั้นภูเขาไฟลูกนี้ก็สงบลง แต่เจ้าหน้าที่ธรณีวิทยาเตือนว่ามันยังคงไม่สถียรและอาจปะทุขึ้นมาอีกครั้ง และสำนักงานธรณีวิทยาของรัฐบาลชิลีบอกว่าการปะทุรอบใหม่นี้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของหินหนืด (แม็กมา) โดยเริ่มขึ้นตอนเวลาประมาณ 13.09 น.(ตรงกับเมืองไทย 23.09 น.)
คาลบูโก ถูกยกเป็นหนึ่งในภูเขาไฟที่อันตรายที่สุดของบรรดาภูเขาไฟที่ยังมีพลังราว 500 ลูกจากทั้งหมดประมาณ 2,000 ลูกของชิลี โดยมันตั้งอยู่ในเขตลอส ลากอส ทางใต้ของประเทศ ห่างจากกรุงซานติอาโก ราว 1,000 กิโลเมตร
ภาพข่าวของสถานีโทรทัศน์เผยให้เห็นกลุ่มควันสีน้ำตาลเข้มหนาทึบแผ่ลามขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างรวดเร็วในช่วงบ่ายวันพฤหัสบดี (30 เม.ย.) ขณะที่ อาร์นัลโด ซูนิกา นักอุตุนิยมวิทยาของรัฐบาลระบุว่ามันกำลังมุ่งหน้าไปทางตะวันออกเฉียงใต้สู่อาเจนตินา
ส่วนโนฟา อาบุด เจ้าหน้าที่เขตลอส ลากอส เผยว่า ทางเขตได้เรียกประชุมฉุกเฉินเพื่อพิจารณาในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพยากรณ์พฤติกรรมของกลุ่มควัน ปัจจัยทางภูมิอากาศ และมาตรการสำหรับรับมือ
ได้มีการกำหนดพื้นที่อพยพในรัศมี 20 กิโลเมตรรอบภูเขาไฟนับตั้งแต่มันปะทุขึ้นอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 22 เมษายน แต่มีชาวบ้านบางส่วนกลับเข้าบ้านชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดเก็บกวาดเถ้าถ่านและซากหักพัง ก่อนจะต้องมุ่งหน้ากลับออกมาอีกครั้ง
ด้านรัฐมนตรีมหาดไทยชิลีเผยว่า ในวันพฤหัสบดี (30 เม.ย.) มีชาวบ้านราว 1,500 คนต้องอพยพออกมา แต่ระบุจากสิ่งบ่งชี้ต่างๆ ทำให้เชื่อว่าการปะทุครั้งนี้จะไม่รุนแรงเหมือนกับเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่พ่นเถ้าถ่านและแก๊สขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศสูงลิ่ว 17 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เตือนว่าหากมีฝนตกหนักหรือหิมะในวันศุกร์ (1 พ.ค.) อาจก่อสถานการณ์ที่ยุ่งยากซับซ้อน