เอเจนซีส์ - เคนยาเมื่อวันอาทิตย์ (5 เม.ย.) เริ่มต้นช่วงเวลา 3 วันแห่งการไว้อาลัยสำหรับเหยื่อผู้ถูกสังหารอย่างสยดสยองถึง 148 ชีวิต ที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา ในเหตุการณ์โจมตีมหาวิทยาลัยตอนปลายสัปดาห์ที่แล้ว โดยประธานาธิบดี อูฮูรู เคนยัตตา ประกาศตอบโต้กลุ่มอัลชาบับอย่างรุนแรงที่สุด พร้อมเรียกร้องให้ชาวมุสลิมร่วมกันต่อต้านความพยายามปลูกฝังลัทธิสุดโต่ง ขณะที่พระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขคริสตจักรคาทอลิก ก็ทรงประณามการละเลยและการนิ่งเฉยของทั้งโลกมุสลิมและรัฐบาลตะวันตก โดยทรงระบุว่าเข้าข่ายรู้เห็นเป็นใจกับการโจมตีของนักรบญิฮัดต่อชาวคริสเตียน
ธงชาติทั่วเคนยาลดลงครึ่งเสาในวันอาทิตย์ (5) ขณะที่บรรดาโบสถ์คริสต์ซึ่งจัดพิธีมิสซาเนื่องในวันอีสเตอร์ ต่างมีช่วงวาระแสดงความไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตเหล่านี้
ฮัสซัน โอเล นาโด รองประธานสภาสูงสูดของชาวมุสลิมเคนยา ก็ออกมาแสดงความไว้อาลัย โดยระบุว่ากลุ่มชาบับมุ่งหมายที่จะสร้างความขัดแย้งระหว่างศาสนาขึ้นมา และ “เคนยากำลังอยู่ในสงคราม เราทั้งหมดจะต้องยืนอยู่เคียงข้างกัน”
ทางด้านประธานาธิบดี เคนยัตตา กล่าวปราศรัยทางทีวีว่า จะตอบโต้กลุ่มอัลชาบับอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และกลุ่มหัวรุนแรงจะไม่สามารถสร้างรัฐอิสลามในเคนยาได้ดังหวัง อย่างไรก็ดี เขายอมรับว่า ภารกิจในการต่อต้านการก่อการร้ายของเคนยายากลำบากมากขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้วางแผนและผู้สนับสนุนเงินทุนในการก่อความรุนแรงฝังตัวอยู่ในชุมชนของเคนยา
“การปลูกฝังลัทธิสุดขั้วที่ก่อกำเนิดขบวนการก่อการร้าย ไม่ได้ดำเนินการกันแบบหลบๆ ซ่อนๆ ตอนกลางคืน แต่เกิดขึ้นกลางวันแสกๆ ในโรงเรียนอิสลาม ในบ้าน และในมัสยิดที่มีอิหม่ามหัวรุนแรง” ผู้นำเคนยายังเรียกร้องให้ประชาชนร่วมมือกันต่อต้านการล้างสมองพลเมืองให้เข้าร่วมลัทธิสุดโต่ง
เคนยัตตานั้น มีความพยายามสร้างสมดุล โดยกล่าวว่า ถึงแม้ประชาชนมีความชอบธรรมที่จะรู้สึกเคียดแค้น แต่นั่นไม่ควรนำไปสู่ “กระบวนการทำให้ผู้ใดก็ตามต้องกลายเป็นเหยื่อ” ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเขาพาดพิงอ้างอิงถึงชุมชนมุสลิมที่คิดเป็นสัดส่วน 10% ของประชากรทั้งหมด 44 ล้านคน ตลอดจนชนกลุ่มน้อยที่เป็นคนเชื้อสายโซมาเลีย
กระนั้น เป็นที่คาดกันว่า คำปราศรัยของเคนยัตตาจะเพิ่มความกดดันแก่ชุมชนเหล่านี้อยู่ดี โดยเฉพาะหลังจากที่ทางการเคนยาประกาศในวันอาทิตย์ (5) ว่า ในจำนวนคนร้ายกลุ่มอัลชาบับ 4 คนซึ่งถูกสังหารขณะเข้าโจมตีมหาวิทยาลัยในเมืองการิสซาเมื่อวันพฤหัสบดี (2) นั้น สามารถระบุอัตลักษณ์ได้แล้ว 1 คน คือ อับดิรอฮิม อับดุลเลาะห์ หนุ่มสัญชาติเคนยาเชื้อชาติโซมาเลีย ซึ่งเป็นนักเรียนเกรดเอสมัยที่เป็นนักเรียน และสำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงไนโรบี
ขณะเดียวกัน กระทรวงมหาดไทยเคนยา ระบุว่า สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยมีส่วนร่วมในการโจมตีล่าสุดได้ 3 คนใกล้ชายแดน และอีก 2 คนที่ควบคุมตัวได้จากมหาวิทยาลัย โดยคนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย อีกคนหนึ่งเป็นชายชาวแทนซาเนียชื่อ ราชิด ชาร์ลส์ เอ็มเบเรเซโร
สำหรับสภากาชาดเคนยาแจ้งว่า มีร่างของเหยื่อซึ่งเก็บไว้ในห้องเก็บศพในกรุงไนโรบี ได้รับการระบุตัวจากญาติแล้วจำนวน 54 ตัว ขณะที่ทางการจัดเตรียมรถบัสนำนักศึกษากว่า 600 คนและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ที่รอดชีวิต เดินทางกลับสู่บ้านเกิด โดยที่ผู้รอดชีวิตหลายคนได้พบกับครอบครัวในสนามกีฬาแห่งชาติไนยาโน ในไนโรบีที่ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์ภัยพิบัติ
ทั้งนี้ มีประชาชนกว่า 400 คน ถูกอัลชาบับสังหารในแผ่นดินเคนยานับจากที่เคนยัตตาขึ้นบริหารประเทศเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงเหยื่อ 67 คนในเหตุยึดห้าง “เวสต์เกต” ห้างสรรพสินค้าระดับพรีเมียมในกรุงไนโรบีเมื่อเดือนกันยายน 2013
นักรบหัวรุนแรงจากโซมาเลียกลุ่มนี้ประกาศทำสงครามนองเลือดกับเคนยาโดยบอกว่าเพื่อแก้แค้นที่เคนยาส่งทหารเข้าร่วมกับกองกำลังต่างๆ ทำการสู้รบกับพวกตนในโซมาเลีย รวมทั้งยังปฏิบัติต่อชาวมุสลิมในประเทศอย่างไม่เป็นธรรม
ทั้งชาวคริสเตียนและมุสลิมในทั่วโลก ต่างพากันประณามเหตุการณ์โจมตีนี้ โดยในวันอาทิตย์ มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮาร์ในกรุงไคโร อียิปต์ ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการด้านอิสลามที่เป็นที่ได้รับความเคารพมากที่สุดในหมู่ชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ ได้ออกมาประณามการโจมตีของผู้ก่อการร้าย
ในเคนยา ประชาชนประท้วงบนท้องถนน และปฏิเสธแนวคิดที่ว่า อัล-ชาบับ สามารถแบ่งแยกประเทศสำเร็จ
ทางด้าน พระสันตะปาปาฟรานซิส ในระหว่างที่ทรงเป็นประธานในพิธีฉลองเทศกาลอีสเตอร์ ที่นครวาติกัน วันอาทิตย์ (5) ก็ทรงประณามการละเลยและการนิ่งเฉยของทั้งโลกมุสลิมและรัฐบาลตะวันตก โดยระบุว่าเข้าข่ายรู้เห็นเป็นใจกับการโจมตีของนักรบญิฮัดต่อชาวคริสเตียน
ทั้งนี้ วาติกันดูจะแสดงความไม่พอใจมากขึ้น จากการที่ผู้มีอำนาจในโลกมุสลิมหรือกระทั่งรัฐบาลตะวันตก ไม่ได้ออกมาประณามอย่างแข็งขันเพียงพอ เมื่อเกิดเหตุโจมตีต่อชาวคริสเตียนในประเทศต่างๆ ในระยะหลังๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็น อิรัก ลิเบีย ปากีสถาน หรือ ไนจีเรีย