เอเอฟพี - อียูเผยรายงานข้อมูลตัวเลขในวันนี้ (31 มี.ค.) ว่าภาวะเงินฝืดในยูโรโซนลดความรุนแรงลงในเดือนมีนาคม ช่วยคลายความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจยุโรปกำลังเผชิญกับอันตรายหลังจากเงินเฟ้ออยู่ในแดนลบต่อเนื่อง 4 เดือน ด้าน "ฟิตช์ เรตติ้ง" ชี้วิกฤติหนี้สินยูโรโซนถือเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงสุดต่อเศรษฐกิจโลก
ยูโรสแตท หน่วยงานด้านสถิติของสหภาพยุโรป ระบุว่า เงินเฟ้อในยูโรโซนขยับมาอยู่ที่ -0.1 เปอร์เซ็นต์ในเดือนมีนาคม น้อยกว่าเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งร่วงลงไปอยู่ที่ -0.3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนราคาพลังงานที่ตกต่ำยังคงส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพ
อัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 11.3 เปอร์เซ็นต์ ลดลงเล็กน้อยจากเดือนมกราคมที่เคยมีตัวเลขอยู่ที่ 11.4 เปอร์เซ็นต์ กับตัวเลข 11.8 เปอร์เซ็นต์ในปีก่อน ซึ่งถือเป็นสัญญาณในเชิงบวก
ภัยคุกคามของภาวะเงินฝืดในยูโรโซนยังคงเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกังวล ด้วยเกรงว่าการซื้อพันธบัตรมูลค่ามหาศาลโดยธนาคารกลางยุโรปนั้นอาจจะสายเกินกว่าที่จะไปรับมือกับผลกระทบเชิงลบของเงินเฟ้อที่ตกต่ำ
เงินเฟ้อนั้นเริ่มตกต่ำลงไปสู่แดนลบเมื่อช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ด้วยตัวเลข -0.2 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นในเดือนมกราคมตัวเลขก็ขยับไปอยู่ที่ -0.6 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ดูเหมือนจะดีขึ้นเมื่อตัวเลขขยับไปอยู่ที่ -0.3 เปอร์เซ็นต์
ทางด้าน "ฟิตช์ เรตติ้ง" ได้ออกมาระบุเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (30 มี.ค.) ว่าวิกฤติหนี้สินรอบใหม่ของยูโรโซนถือเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงสุดต่อเศรษฐกิจโลก มากยิ่งกว่าเรื่องราคาน้ำมันที่ผันผวน
อัตราการว่างงานยังคงมีสัดส่วนตัวเลขที่หลากหลายใน 19 ชาติแถบยูโรโซน ต่ำสุดคือเยอรมัน 4.8 เปอร์เซ็นต์ ส่วนประเทศที่อัตราการว่างงานสูงจนน่าวิตกคือสเปน ที่ตัวเลข 23.2 เปอร์เซ็นต์ กับกรีซที่มีตัวเลขว่างงาน 26 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงที่สุดในยุโรป ส่วนอัตราการว่างงานของเยาวชนในกรีซนั้นมีมากถึง 51.2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่สเปนมี 50.7 เปอร์เซ็นต์
ด้านข้อมูลตัวเลขของอิตาลี ที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ในยูโรโซนนั้นยังคงน่าเป็นห่วง ด้วยอัตราการว่างงาน 12.7 เปอร์เซ็นต์ในเดือนกุมภาพันธ์ กับอัตราการว่างงานของเยาวชน 42.6 เปอร์เซ็นต์