xs
xsm
sm
md
lg

“มหาเธร์” ร่วมไว้อาลัย “ลี กวนยู” ยกเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่า เขา “เศร้าใจ” กับการจากไปของ ลีกวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ก่อตั้งสิงคโปร์ แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาจะไม่ชื่นมื่นนักก็ตาม พร้อมเสริมว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สูญเสียผู้นำที่เข้มแข็งไปแล้ว

“ผมพูดไม่ได้ว่าผมเป็นสหายสนิทของ กวนยู แต่ผมก็ยังรู้สึกเศร้าเสียใจกับการจากไปของเขา” มหาเธร์ วัย 89 ปี เขียนบนบล็อกของเขา “ไม่ว่าเราจะเป็นมิตรหรือบาดหมางกันมากแค่ไหนก็ตาม แต่การจากไปของคนที่คุณที่รู้จักเป็นอย่างดีย่อมทำให้คุณเศร้าใจ”

“(สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ได้สูญเสียผู้นำที่เข้มแข็งไปแล้วหลังจากการจากไปของประธานาธิบดี ซูฮาร์โต และ ลี กวนยู” เขากล่าวเสริม โดยพาดพิงถึงอดีตผู้นำอินโดนีเซียที่ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2008

บุคคลที่อยู่ในยุคสมัยเดียวกันทั้ง 3 คนนี้คือผู้นำที่เข้มแข็ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการชี้นำประเทศของพวกเขาจากความไม่แน่นอนหลังยุคอาณานิคมสู่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจ

“ตอนนี้ไม่มี กวนยู อีกแล้ว การจากไปของเขาเป็นหมุดหมายให้กับการสิ้นสุดของยุคสมัยที่เหล่าผู้ที่เคยต่อสู้เพื่อเอกราช มีบทบาทชี้นำประเทศของตนและรู้ซึ้งถึงคุณค่าของเอกราช” มหาเธร์ เขียน

ลี ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันจันทร์ (91) ด้วยวัย 91 ปี หลังจากอยู่ในรัฐบาลมากว่าครึ่งศตวรรษ ช่วงเวลาที่นครรัฐแห่งนี้ได้ถูกเปลี่ยนจากอาณานิคมโพ้นทะเลอันยากจนของอังกฤษกลายเป็นหนึ่งในสังคมที่ร่ำรวยที่สุดในโลก

ความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ไม่สู้ดีนักในช่วงประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของทั้งสองประเทศ หลังจาก ลี นำพาประเทศของเขาสู่เอกราชในปี 1965 ภายหลังจากที่เคยเป็นหนึ่งเดียวกับแดนเสือเหลืองช่วงระยะหนึ่ง

ความเป็นหนึ่งเดียวกันดังกล่าวแตกหักลงท่ามกลางจลาจลทางชาติพันธุ์ที่เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างชาวมาเลย์กับชาวจีน ซึ่งเป็นชนหมู่มากของสิงคโปร์

ความสัมพันธ์ระหว่าง มหาเธร์ ซึ่งเป็นชาวมาเลย์ และ ลี ที่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวจีนสะท้อนให้เห็นถึงความตึงเครียดดังกล่าว ที่บางครั้งบางโอกาสก็จะเห็นพวกเขายิงคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อประเทศของอีกฝ่าย

ถึงกระนั้น ในการโพสต์บนบล็อกของเขาครั้งนี้ มหาเธร์ ซึ่งกุมบังเหียนแดนเสือเหลืองตั้งแต่ปี 1981 – 2003 และยังคงมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่ ได้เล่าถึงการประชุมกับ ลี ครั้งแรกในปี 1964 ครั้งที่สิงคโปร์ยังเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย

เขากล่าวว่า พวกเขาสองคนเห็นแย้งกันในประเด็นต่างๆ แทบทั้งหมด แต่ระบุว่า พวกเขาติดต่อหากันเมื่ออีกฝ่ายมีปัญหาสุขภาพ

ชายทั้งสองมีหลักการปกครองที่คล้ายคลึงกัน คือการรวมเอาจุดยืนที่ไม่ประนีประนอมต่อผู้เห็นแย้ง ซึ่งบางครั้งก็ถึงกับเอาอริทางการเมืองเข้าคุกตาราง เข้าด้วยกันกับนโยบายที่ช่วยพัฒนาให้ประเทศของพวกเขากลายเป็น “เสือเศรษฐกิจ” ของเอเชียจนสำเร็จ


กำลังโหลดความคิดเห็น