รอยเตอร์ - นายฟูอัด มัสซูม ประธานาธิบดีอิรักเผยในวันพุธ(25มี.ค.) พันธมิตรนานาชาติที่นำโดยสหรัฐฯ จะดำเนินการโจมตีทางอากาศต่อนักรบรัฐอิสลาม(ไอเอส) ในเมืองติกริตเร็วๆนี้ หลังจากเริ่มปฏิบัติการเที่ยวบินลาดตระเวนบนท้องฟ้าไปแล้วตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์
3 สัปดาห์แล้วที่ปฏิบัติการจู่โจมครั้งใหญ่ของกองทัพรัฐบาลอิรักกับกองกำลังติดอาวุธชีอะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ล้มเหลวในความพยายามขับไล่นักรบไอเอสพ้นจากเมืองติกริต บ้านเกิดของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮูสเซน
"ตั้งแต่เมื่อวานนี้ เที่ยวบินสนับสนุนทางอากาศและลาดตระเวนได้เริ่มขึ้นแล้วในติกริต พวกเขาได้เริ่มต้นด้วยภารกิจลาดตระเวน ลำดับถัดไปพวกเขาจะรวบรวมรายงานต่างๆทางอากาศ และหลังจากนั้นปฏิบัติการโจมตีทางอากาศก็จะเริ่มต้นขึ้น" มัสซูม ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ ณ ทำเนียบประธานาธิบดีในแบกแดด
เหล่าผู้บัญชาการกองทัพอิรักร้องขอปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ แต่พวกกองกำลังติดอาวุธชีอะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน แสดงออกอย่างเปิดเผยว่าไม่ต้องการเห็นอเมริกามีบทบาทในการสู้รบเพื่อยึดคืนป้อมปราการของพวกญิฮัดแห่งนี้
หลังเจอทางตัน รัฐบาลอิรักได้ระงับปฏิบัติการจู่โจมเกือบทั้งหมดเมื่อราว 1 สัปดาห์ก่อน โดยอ้างถึงความกังวลต่อการสูญเสียเลือดเนื้อของพลเรือนและทหาร แต่นายมัสซูม แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลอิรักตัดสินใจแล้วว่าจะขอการสนับสนุนทางอากาศจากพันธมิตรนานาชาติที่นำโดยสหรัฐฯในสมรภูมิรบนี้ แม้จะสร้างความไม่พอใจแก่เหล่าผู้นำของกองกำลังติดอาวุธชีอะห์ ซึ่งคุยโวว่าเป็นกองกำลังสู้รบที่แข็งแกร่งที่สุดในสงครามต่อต้านนักรบรัฐอิสลาม
"รัฐบาลอิรัก พร้อมด้วยประชาชนในพื้นที่ต้องการแรงสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นจากพันธมิตรนานาชาติ รัฐบาลอิรักเป็นผู้ตัดสินใจเพียงหนึ่งเดียวและมันไม่ใช่การตัดสินใจของกองกำลังอื่นๆ" มัสซูม นักการเมืองชาวเคิร์ด ที่ก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ประธานาธิบดีอิรักเมื่อฤดูร้อนปีก่อนกล่าว
อย่างไรก็ตาม ฮาดี อัล-อามิรี ผู้บัญชาการกองกำลังติดอาวุธชีอะห์ หนึ่งในบุคคลผู้ทรงอิทธิพลสุดของประเทศ ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับอิหร่าน บอกกับผู้สื่อข่าวที่เมืองซามาร์รา ทางเหนือของแบกแดด ว่าเขาไม่ทราบถึงการตัดสินใจดังกล่าวของนายมัสซูมและไม่เคยมีการปรึกษาหารือมาก่อน "ถ้าเราต้องการปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ เราจะบอกกับรัฐบาลของเรา แต่จนถึงตอนนี้ เรายังไม่ต้องการ" เขาบอก
หากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเริ่มต้นขึ้น มันจะกลายเป็นครั้งแรกที่ทหารสหรัฐฯและอิหร่านในฐานะที่ปรึกษาของพวกนักรบ เข้าร่วมต่อสู้ในสมรภูมิเดียวกัน นับตั้งแต่อเมริกาโจมตีทางอากาศช่วยปลดปล่อยชาวตุรกีชีอะห์ของเมืองอาเมอร์ลี เมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อน
มัสซูม ยืนยันว่าประเทศของเขาไม่ได้เป็นหนี้บุญคุณอิหร่าน แม้ได้รับการสนับสนุนอย่างมากมายทั้งด้านอาวุธและให้คำปรึกษาจากชาติเพื่อนบ้านแห่งนี้ นับตั้งแต่พวกรัฐอิสลามบุกยึดพื้นที่ทางเหนือและตะวันตกของอิรักเมื่อปีที่แล้ว "อิหร่านมอบความช่วยเหลือทางทหารและมนุษยธรรมแก่อิรักมาตั้งแต่วันแรก แต่พวกเขาไม่มีสิทธิ์คัดค้านการตัดสินใจใดๆของอิรัก"
ประธานาธิบดีย้ำว่าอิรักกำลังแสวงหาสมดุลระหว่างอิหร่าน พวกชาติตะวันตกและเหล่าประเทศอาหรับที่เข้าร่วมสู้รบต่อต้านรัฐอิสลาม ซึ่งมีเป้าหมายสถาปนาการปกครองแบบ “กาหลิบ” อิสลามในพื้นที่ยึดครอง และบอกว่าการโจมตีทางอากาศใดๆจะหลีกเลี่ยงเป้าหมายพลเมือง แม้อ้างพวกรัฐอิสลามพยายามใช้พลเมืองเป็นเครื่องป้องกันในฐานะโล่มนุษย์ พร้อมกันนั้นกองกำลังความมั่นคงและกองกำลังติดอาวุธอื่นๆจะทำงานหนักเพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ
ผู้นำรายนี้บอกด้วยว่าอิรักกำลังมองไปยังจังหวัดอันบาร์ ทางตะวันตกของประเทศ ในฐานะสมรภูมิรบถัดไป ก่อนพยายามยึดคืนเมืองโมซุล ซึ่งถูกพวกรัฐอิสลามบุกยึดตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีก่อน