ครบรอบ 4 ขวบปีไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับความขัดแย้งที่ลุกลาม จนบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมืองในซีเรีย อดีตดินแดนที่เคยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญของโลกมาแต่โบราณกาล และยังเคยได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีเสถียรภาพทางการเมืองมากที่สุดแห่งหนึ่งทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลางและในโลกอาหรับ
จนถึงขณะนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความขัดแย้งและการนองเลือดที่ดำเนินมานานถึง 4 ขวบปีในซีเรีย ยังคงดำเนินต่อไป ทุกๆนาที ทุกๆชั่วโมงที่ผ่านไปก็ยังคงมีชาวซีเรียต้องเสียชีวิตหรือได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และดูเหมือนจะยังไม่มี “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” สำหรับชาวซีเรีย
แม้จะมีความหวังเพียงริบหรี่ที่จะได้เห็นสงครามกลางเมืองซีเรียยุติลงในเร็ววัน แต่ดูเหมือนจะมี “ข้อเท็จจริง 2 ประการ” ที่ผุดขึ้นมาท่ามกลางความขัดแย้งในยามนี้
นั่นคือ “ข้อเท็จจริงประการแรก” ที่ว่า ระบอบการปกครองของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดแห่งซีเรียยิ่งทวีความแข็งแกร่งมากขึ้น และดูจะมีเสถียรภาพมากกว่าที่หลายฝ่าย (รวมถึงรัฐบาลสหรัฐฯ) เคยคาดการณ์เอาไว้ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากชาวซีเรีย ทั้งๆที่รัฐบาลซีเรียถูก “รุมกินโต๊ะ” ทั้งจากฝ่ายกบฏสายกลาง กลุ่มนักรบอิสลามิสต์สุดโต่ง รวมถึงจาก รัฐบาลสหรัฐอเมริกา และบรรดาชาติเศรษฐีอาหรับสายสุหนี่แถบอ่าวเปอร์เซีย ที่มองระบอบการปกครองของพวกอะลาวิต (แขนงหนึ่งของมุสลิมชีอะห์) ในซีเรียว่า เป็น “ภัยคุกคาม” ที่ต้องถูกกำจัดให้สิ้นซาก
ส่วน “ข้อเท็จจริงประการที่สอง” คือ การที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสงครามกลางเมืองซีเรีย ต่างตระหนักแล้วว่าจะไม่มีฝ่ายใดที่จะสามารถคว้าชัยชนะได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพียงลำพังในความขัดแย้งนี้ และการหันหน้าเข้าหากันเพื่อปูทางไปสู่ “การเจรจาสันติภาพ” ดูจะเป็นเพียง “ทางออกเดียว”เท่านั้นสำหรับยุติการนองเลือดที่เกิดขึ้นมานาน 4 ปี แต่ถึงกระนั้นกระบวนการสันติภาพที่ว่ากันว่าเป็นเพียงทางออกเดียว ก็ยังคงอยู่ไกลเกินเอื้อมสำหรับสถานการณ์ซีเรียในยามนี้
ยิ่งไปกว่านั้น สงครามกลางเมืองในซีเรียที่ดำเนินมานาน 4 ปียังได้ให้กำเนิด “ปีศาจร้าย” อันเหี้ยมโหดที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State : IS) ซึ่งกลายเป็นภัยคุกคามใหม่ต่อความสงบสุขของทั้งโลก และสร้างความหวาดกลัวจากพฤติกรรมป่าเถื่อนหลายรูปแบบของกลุ่มสุดโต่งนี้ ที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อทั่วโลกอยู่เป็นระยะ
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐฯภายใต้การนำของชายที่ชื่อบารัค โอบามา เคยมี “แนวคิดตื้นๆ” ว่า ถ้าสามารถกำจัดระบอบการปกครองของบาชาร์ อัล-อัสซาดในซีเรียได้ สหรัฐฯย่อมสามารถสถาปนาระบอบการปกครองใหม่ที่ “เป็นมิตรกับวอชิงตัน” ได้ตามชอบใจ โดยอาศัย “หุ่นเชิด” ในพวกกบฏซีเรียสายกลาง
แต่เมื่อเวลาผ่านไป รัฐบาลอเมริกันที่ “โง่เขลามานาน” เพิ่งฉุกคิดได้ว่า หากไม่มีอัสซาดแล้ว รัฐบาลหุ่นเชิดของตนในซีเรียนั้นคงอยู่ในอำนาจได้ไม่นานและคงพ่ายแพ้ต่อพวกสุดโต่งอย่างกลุ่มไอเอสในไม่ช้า ทั้งจากความอ่อนหัดในการสู้รบ และจากความขัดแย้งกันเองของเหล่าแกนนำกบฏสายกลาง
ดังนั้น จึงไม่ผิดนัก หากเราๆท่านๆจะได้เห็นรัฐบาลอเมริกันยอม “กลืนน้ำลายตัวเอง” ด้วยการหันมาผ่อนท่าทีต่อระบอบอัสซาดลง รวมถึงอาจได้เห็นความเป็นไปได้ที่รัฐบาลวอชิงตันต้องจำใจร่วมมือกับรัฐบาลซีเรียในการกวาดล้างกลุ่มไอเอสในอนาคต แม้จะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ความร่วมมือใดๆระหว่างวอชิงตันกับระบอบอัสซาดนั้นคงต้องออกมาใน “ทางลับ” ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการ “รักษาหน้า” ของรัฐบาลอเมริกัน มิให้ต้องบอบช้ำเสียเซลฟ์ไปมากกว่าที่เป็นอยู่
ในอีกด้านหนึ่งกลุ่มเคลื่อนไหว “ซีเรียน ออบเซอร์วาทอรี ฟอร์ ฮิวแมน ไรต์ส” ซึ่งมีฐานอยู่ในอังกฤษและมีจุดยืนเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองของ “บาชาร์ อัล-อัสซาด” ในซีเรีย เผยข้อมูลล่าสุดในวันอาทิตย์ (15 มี.ค.) ระบุว่าสงครามกลางเมืองซีเรียที่ดำเนินมาครบ 4 ปีได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 215,518 รายนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2011 โดยในจำนวนนี้มีพลเรือนถูกสังหารมากกว่า 66,000 คน
ข้อมูลซึ่งรวบรวมโดยกลุ่มเคลื่อนไหวนี้ระบุด้วยว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตจาก ความขัดแย้งในซีเรียที่ 215,518 รายนั้น มีเด็กและผู้หญิงรวมอยู่ด้วย 10,808 คน และเกือบ 7,000 คน ตามลำดับ
กลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวอ้างข้อมูลของตนว่า กองทัพรัฐบาลซีเรียต้องสูญเสียกำลังพลของตนไปแล้ว 46,138 นายตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มติดอาวุธซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนระบอบอัสซาดต้องสูญเสียนักรบของตน ไปมากกว่า 30,000 คน
ในทางกลับกัน ข้อมูลของกลุ่มระบุว่า นักรบญิฮัดจากกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) และแนวร่วมอัล-นุสราที่มีความเชื่อมโยงกับพวกอัลกออิดะห์ต้องเสียนักรบในสังกัดไปแล้วเกือบ 27,000 คน ส่วนพวกกบฏซีเรียสายกลางมียอดการเสียชีวิตมากกว่า 39,000 คน
สุดท้ายนี้ คงสรุปได้เพียงว่าระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านไปในสงครามกลางเมืองซีเรีย เปรียบได้ไม่ต่างจากความขัดแย้งที่ยังไร้ “แสงสว่าง” ณ ปลายอุโมงค์ และไม่ว่าความขัดแย้งนี้จะดำเนินต่อไปในทิศทางใด ผู้ที่ต้องทนทุกข์และรับผลกระทบหนักหนาสาหัสที่สุด คงหนีไม่พ้นประชาชนชาวซีเรียนั่นเอง