หลังก่อเหตุสังหาร “เคนจิ โกโตะ” ตัวประกันชาวญี่ปุ่นรายที่สองด้วยการตัดศีรษะออกสื่อทั่วโลก เพียงไม่กี่อึดใจ กลุ่มนักรบหัวรุนแรงที่นำศาสนามาเป็น “เครื่องบังหน้า” อย่างกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State : IS) ก็ได้แสดงออกถึงพฤติกรรมป่าเถื่อนครั้งใหม่จนเรียกเสียงประณามจากประชาคมโลกด้วยการ “เผาทั้งเป็น” มูอัธ อัล-คาซัสเบห์ นักบินชาวจอร์แดนที่ถูกจับเป็นตัวประกันของพวกไอเอสตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข่าวพฤติกรรมป่าเถื่อนของกลุ่มไอเอสตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลกเริ่มตั้งแต่การฆ่าตัดหัวฮารูนะ ยูคาวะ ตัวประกันชาวญี่ปุ่นรายแรกเมื่อ 25 มกราคม ตลอดจนการปลิดชีพตัวประกันชาวญี่ปุ่นรายที่สอง คือ เคนจิ โกโตะ ด้วยวิธีการเดียวกันเมื่อ 31 มกราคม และล่าสุดคือการประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็นมูอัธ อัล-คาซัสเบห์ นักบินแห่งกองทัพอากาศจอร์แดนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ ซึ่งกลายเป็นข่าวเด่นประเด็นร้อนฉ่าที่สุดในรอบสัปดาห์นี้
หลังคลิปวิดีโอการเผาทั้งเป็นอัล-คาซัสเบห์ นักบินชาวจอร์แดนถูกเผยแพร่ออกไป กษัตริย์อับดุลเลาะห์ อิบบิน อัล-ฮุสเซน หรือกษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน ทรงประกาศเมื่อวันพุธ (4ก.พ.) ว่า ราชอาณาจักรของพระองค์ซึ่งเป็นบ้านของประชากรราว 6.6 ล้านคนจะทำสงครามอย่างไร้ความปรานีกับนักรบไอเอส และจะเพิ่มความพยายามร่วมกับชาติพันธมิตรทั่วโลกในการหยุดยั้งพวกหัวรุนแรงสุดโต่งกลุ่มนี้ ที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลเข้ายึดครองพื้นที่มหาศาลทั้งในอิรักและซีเรีย
หลังข่าวการเสียชีวิตอย่างน่าอนาถของนักบินชาวจอร์แดนถูกแพร่ออกไป ทางการจอร์แดนได้เริ่มการล้างแค้นเอาคืนกลุ่มไอเอสด้วยการประหารชีวิต ซาจิดา อัล-รีชาวี มือระเบิดหญิงที่เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอส และซียาด อัล-คาร์โบลี นักรบระดับปฏิบัติการของเครือข่ายก่อการร้าย “อัลกออิดะห์” ซึ่งต่างเป็นพลเมืองอิรักทั้งคู่ด้วยการแขวนคอ ที่เรือนจำแห่งหนึ่งใกล้เมืองหลวงคือกรุงอัมมาน
แน่นอนว่า การประหารชีวิตนักโทษ 2 รายนี้ของทางการจอร์แดน เป็นการตอบโต้แบบทันควันที่กลุ่มไอเอส สังหารนักบินจอร์แดนผู้โชคร้ายที่ถูกจับเป็นตัวประกันหลังจากเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-16 ของเขาตกในซีเรียเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วระหว่างเข้าร่วมปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของนานาชาติต่อกลุ่มไอเอส
มูอัธ อัล-คาซัสเบห์กลายเป็นนักบินที่เข้าร่วมปฏิบัติการโจมตีกลุ่มไอเอสรายแรกที่ถูกพวกสุดโต่งจับตัวได้ และบรรดานักวิเคราะห์ด้านการเมืองและความมั่นคง ตลอดจนผู้สันทัดกรณีด้านกิจการตะวันออกกลาง ต่างลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ชะตากรรมอันน่าโศกสลดของนักบินหนุ่มวัยเพียง 26 ปีผู้นี้ ถือเป็นความพยายามของกลุ่มไอเอส ที่มีจุดประสงค์เพื่อต้องการกดดันให้จอร์แดน และประเทศต่างๆถอนตัวออกจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของนานาชาติซึ่งสร้างความสูญเสียมิใช่น้อยต่อพวกไอเอส
อย่างไรก็ตาม กษัตริย์อับดุลเลาะห์แห่งจอร์แดน ทรงยืนกรานระหว่างการประชุมด้านความมั่นคงนัดล่าสุดในกรุงอัมมาน โดยทรงยืนกรานจะใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อนักรบไอเอสให้หนักหน่วงยิ่งขึ้นกว่าเดิม
"เรากำลังทำสงครามนี้เพื่อปกป้องศรัทธา คุณค่าและหลักศีลธรรมจรรยาของมนุษยชาติ และสงครามของเราในครั้งนี้จะเป็นสงครามที่ไร้ความปรานี โลกใบนี้จะได้ยินการตอบโต้ของจอร์แดนต่อพวกสุดโต่งนี้" กษัตริย์อับดุลเลาะห์แห่งจอร์แดนตรัส
ชะตากรรมอันน่าเศร้าของมูอัธ อัล-คาซัสเบห์ กลายเป็นประเด็นร้อนที่กระทบกระเทือนจิตใจของชาวจอร์แดนอย่างมิอาจปฏิเสธได้ และถูกมองว่าการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของนักบินหนุ่มรายนี้อาจกลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่สั่นคลอนอำนาจของกษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ก้าวขึ้นครองอำนาจต่อจากพระราชบิดา คือ กษัตริย์ ฮุสเซน บิน ตาลาล เมื่อปี ค.ศ. 1999
อาลี ดาลาเอน อดีตสมาชิกรัฐสภาจอร์แดนออกมาให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่สมควรถูกตำหนิมากที่สุดในเหตุสยองที่เกิดขึ้นกับนักบินจอร์แดนรายนี้ก็คือ “กษัตริย์อับดุลเลาะห์” นั่นเอง ที่ ทรงตัดสินพระทัยให้กองทัพจอร์แดน เข้าร่วมในปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของนานาชาติต่อกลุ่มไอเอสแต่แรกเริ่ม ทั้งๆที่ผลสำรวจความคิดเห็นภายในประเทศบ่งชี้ว่า ชาวจอร์แดนจำนวน “ค่อนประเทศ”ไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการนี้และส่วนใหญ่มองว่า สงครามกวาดล้างกลุ่มไอเอสไม่ต่างจากการที่จอร์แดนถูก “ยืมมือหลอกใช้” จากมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้ผลักดันให้กลุ่มไอเอสถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกแต่แรก
นอกเหนือจากการเข้าร่วมในปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของนานาชาติต่อกลุ่มไอเอสแล้ว กษัตริย์อับดุลเลาะห์ยังทรงยินยอมให้รัฐบาลบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯใช้แผ่นดินจอร์แดน เป็นสถานที่ฝึกการสู้รบให้กับกลุ่มกบฏซีเรียสายกลางที่ถือเป็น “ศัตรูตัวฉกาจของกลุ่มไอเอส” อีกด้วย แม้ทั้งกบฏซีเรียสายกลางกับไอเอสจะมีจุดมุ่งหมายในการโค่นล้มรัฐบาลซีเรียภายใต้การนำของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดเหมือนกันก็ตาม
ดังนั้นคงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ชะตากรรมอันน่าเศร้าของมูอัธ อัล-คาซัสเบห์นักบินชาวจอร์แดนที่ถูกกลุ่มไอเอส “เผาทั้งเป็น” กำลังกลายเป็น “เผือกร้อน” ที่พร้อมจะสั่นคลอนอำนาจ ตลอดจนแรงศรัทธาที่ชาวจอร์แดนมีต่อกษัตริย์อับดุลเลาะห์อันเป็นที่รักยิ่งของพวกเขา และน่าจับตาว่าบทบาทของจอร์แดนต่อสงครามกวาดล้างไอเอสจะดำเนินต่อไปอย่างไรนับจากนี้ ท่ามกลางความหวังของชาวจอร์แดนว่าอัล-คาซัสเบห์ จะเป็นพลเมืองจอร์แดน “คนแรกและคนสุดท้าย” ที่ต้องสังเวยชีวิตจากผลพวงของความขัดแย้งที่จอร์แดน “มิได้เป็นคนก่อ”