xs
xsm
sm
md
lg

In Pics : สื่ออังกฤษเปิดแผนที่เบียร์โลกชี้ “เบียร์สิงห์-เบียร์ช้าง”ปักหมุดแบร์นด์ยอดนิยมในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ – เดลีเมล สื่ออังกฤษ รายงานถึงกระแสแบรนด์เบียร์ยอดนิยมทั่วโลก แสดงถึงความหลากหลายของคอนักดื่มแต่ละประเทศที่นิยมรสชาติเบียร์ยี่ห้อที่แตกต่างกันไปตามภูมิภาค เช่น นักดื่มชาวไทยเทใจให้กับเบียร์สิงห์และเบียร์ช้าง ในขณะที่มาเลเซียซึ่งเป็นประเทศมุสลิมนิยมไทเกอร์เบียร์ ส่วนสหรัฐฯนักดื่มส่วนมากของประเทศเทใจให้บัดไลท์ ในขณะที่รัสเซีย เบียร์บาลติกาโด่งดังที่สุด ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า เบียร์ยี่ห้อดังทั่วโลก เช่น ไฮเนเก้นสามารถครองใจนักดื่มในเนเธอร์แลนด์ได้เท่านั้น

เดลีเมลรายงานเมื่อวานนี้(17)ว่า แผนที่บอกความนิยมยี่ห้อเบียร์ของนักดื่มทั่วโลกที่จัดทำขึ้นโดย VinePair หลังจากนักอ่านสนใจล้นหลามในการจัดลำดับยี่ห้อเบียร์ในดวงใจของชาวอเมริกัน และเรียกร้องต้องการทราบถึงความนิยมยี่ห้อเบียร์ในแต่ละประเทศ ซึ่งตามปกติแล้ว VinePair เป็นเว็บไซต์รายงานทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับไวน์เป็นหลัก

แต่ทว่าสื่ออังกฤษชี้ว่า ข้อมูลเบียร์โลกของ VinePair นั้นไม่ครอบคลุมทุกประเทศในโลก ซึ่งมีราว 194 ประเทศจากการแจกแจงของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯที่ยอมรับประเทศเหล่านั้นในฐานะรัฐ แต่แน่นอนว่าแผนที่เบียร์โลกของ VinePair นั้นครอบคลุมกว่า 100 ชาติ ซึ่งทางเว็บไซต์จัดลำดับความนิยมสูงสุดแต่ละชาติต่อเบียร์ยี่ห้อต่างๆโดยวัดจากส่วนแบ่งทางการตลาดภายในประเทศนั้นๆเป็นหลัก

ทั้งนี้พบว่า เบียร์ยี่ห้อต่างๆจำนวนมากที่ปรากฏบนแผนที่เบียร์โลกมาจากบริษัทเบียร์ขนาดใหญ่ 2 แห่งนโลกคือ (1)A nheuser Busch InBev และ (2)SABMiller โดยวอชิงตันโพสต์รายงานว่า บริษัท A nheuser Busch InBev นั้นเป็นเจ้าของยี่ห้อเบียร์ยอดนิยมในสหรัฐฯ แคนาดา บราซิล ปารากวัย เม็กซิโก และอาร์เจนตินา ในขณะที่บริษัท SABMiller เป็นเจ้าของยี่ห้อเบียร์ในโคลอมเบีย แอฟริกาใต้ เปรู เอกวาดอร์ และประเทศอื่นๆ

และเมื่อพิจารณาเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า “เบียร์ช้าง” ของเจริญ สิริวัฒนภักดี และ ”เบียร์สิงห์” ของตระกูลตระกูลภิรมย์ภักดีเป็น 2 ค่ายที่โดนใจนักดื่มในไทยมากที่สุด ในขณะที่ลาว ต้องเป็น “เบียร์ลาว” เท่านั้น ส่วนกัมพูชา “เบียร์อังกอร์” ถือเป็นแบรนด์ยอดนิยม ในขณะที่มาเลเซียซึ่งเป็นประเทศมุสลิมนิยม “ไทเกอร์เบียร์” ส่วนพม่านิยม “เบียร์พม่า” ด้านฟิลิปปินส์ต้องยกนิ้วให้ “เบียร์ม้าแดง” ส่วนอินโดนีเซียซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีชุมชนมุสลิมใหญ่ที่สุดในโลก แต่กระนั้นเดลีเมลชี้ว่า “เบียร์Bintang” ครองใจนักดื่มแดนอิเหนา

จากการรายงานของสื่อเศรษฐกิจไทย นิตยสารโฟซิชันนิง ในปี 2010 ถึงตลาดเบียร์ย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิเคราะห์เจาะลึกเบียร์ยี่ห้อต่างๆ รวมไปถึงประเทศในย่านนี้ พบว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ประชากรกว่าค่อนนับถือศาสนามุสลิม ส่งผลให้ประชากรเพียง 3% ของประเทศที่สามารถบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ทว่า อัตราที่ต่ำนี้กลับไม่ได้ช่วยลดขนาดของตลาดเบียร์ให้เล็กลงกว่าประเทศอื่น เนื่องจากอินโดนีเซียมีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวขนาดใหญ่เข้ามาทดแทน Bintang ซึ่งเป็นแบรนด์ยอดนิยมสูงสุดในประเทศนั้นมีบริษัทไฮเนเก้น เอชีย แปซิฟิกเป็นเจ้าของ ซึ่งมีบริษัทแม่คือ ไฮเนเก้นอินเตอร์แนชันแนลควบคุม และพบว่าบริษัทไฮเนเก้น เอชีย แปซิฟิก ไม่เพียงแต่เป็นเจ้าของเบียร์ Bintang เท่านั้นแต่ยังเป็นเจ้าของเบียร์ยี่ห้ออื่นๆด้วย รวมไปถึง ไทเกอร์เบียร์ ที่นิยมสูงสุดในมาเลเซียที่นิตยสารโฟซิชันนิงระบุว่า เบียร์ถือเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในแดนเสือเหลืองถึงแม้ว่าประเทศแห่งนี้จะเป็นรัฐอิสลามก็ตาม

นอกจากนี้โพซิชันนิงยังได้บรรยายถึงความแตกต่างของเบียร์ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ Bintang เนื่องจากมีไฮเนเก้นเป็นเจ้าของ Bintangมีรสชาติไม่ต่างจากไฮเนเก้นมากนัก รวมถึงรูปลักษณ์ภายนอกอย่างเช่น ขวด และมีดีกรีแอลกอฮอล์ประมาณ 5% นอกจากนี้ Bintang ยังได้แนะนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทใหม่สู่ตลาดในชื่อแบรนด์ Green Sands ซึ่งมีรสชาติคล้ายเบียร์ที่ผสมมะนาวและมีดีกรีแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 1%

เบียร์ลาว ซึ่งกระบวนการผลิตที่ยังคงความดั้งเดิมไว้ก่อนที่เบียร์แบบ Light และ Dark จะเปิดตัวในขณะนั้น ถือเป็นเบียร์ที่สร้างความสดชื่นให้กับผู้ดื่มได้อย่างมากด้วยสีทองอำพัน และไม่ค่อยมีฟองมากนัก มีดีกรีแอลกอฮอล์ 5% จำหน่ายในกระป๋องขนาด 330 มิลลิลิตร และขวดขนาด 640 มิลลิลิตร

และในขณะที่การรวมตัวทางเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ AEC จะเริ่มต้นในวันที่ 31 ธันวาคม 2015 และจะทำให้กำแพงภาษีเป็นศูนย์ แต่ทว่ามีหลายประเทศ รวมถึงไทยได้ปรับตัวรับมือโดยการปรับภาษีโครงสร้างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2013 ที่อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งสื่อไทยหลายสำนักรายงานว่า ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกรระทรวงการคลังในขณะนั้น เสนอเหตุผลต่อที่ประชุมในการปรับโครงสร้างใหม่ว่า เพื่อเป็นการปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีสุราให้มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ จากเดิมที่การคำนวณภาษีดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักสากล

โดยสุราที่ผลิตในประเทศ ยึดตามราคาขายหน้าโรงงาน ส่วนสุรานำเข้าจากต่างประเทศยึดราคาซีอาร์เอฟ พ่วงกับอากรนำเข้าทำให้มีการแจ้งราคานำเข้าที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนั้นแล้วส่งผลกระทบต่อการเก็บภาษีสรรพสามิตในประเทศ และกระทบต่อตลาดการค้าเสรีในอาเซียน รวมถึงการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกด้วย

“การปรับปรุงภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเตรียมความพร้อมการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การเปิดเสรีการค้า และเพิ่มขีดการแข่งขันของประเทศ นอกจากนั้นเพื่อให้อัตราการจัดเก็บภาษี สอดคล้องกับหลักสุขภาพ ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ และที่สำคัญเพื่อให้การ
คำนวณภาษีเป็นไปด้วยโปร่งใส” ทนุศักดิ์กล่าว

นอกจากไทยแล้ว ยังพบว่าเวียดนามมีแผนการขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน ในปีที่ผ่านมา ซินหวาสื่อท้องถิ่นของเวียดนามรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังว่า เวียดนามวางแผนที่จะปรับเพิ่มภาษีการบริโภคพิเศษ ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ขึ้นจากเดิมอีก 15-30% ช่วงกลางปี 2015 โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการบริโภค และเพิ่มรายได้ของรัฐบาล

โดยเฉพาะภาษีเครื่องดื่มเบียร์และสุรา จะปรับเพิ่มเป็น 65% จากเดิม 50% คาดว่าจะสร้างรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้น 369.6 ล้านดอลลาร์ และ 18.4 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

เวียดนามเป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคเบียร์ต่อหัวมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากจีนและญี่ปุ่นเท่านั้น โดยในปี 2012 เวียดนามมีอัตราการบริโภคเบียร์ถึง 3,000 ล้านลิตร หรือ 32 ลิตรต่อคน

และสื่ออังกฤษ เดลีเมล ยังรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อมองไปยังจีนพบว่า ชาวจีนนิยมดื่ม “เบียร์สโนว์” มากที่สุด ส่วนญี่ปุ่นยี่ห้อที่ติดตลาดและคุ้นเคยมากที่สุดคือ “เบียร์อาซาฮี” และเกาหลีใต้นิยม “เบียร์CASS” ส่วนเกาหลีเหนือนั้น ประธานาธิบดีคิม จองอึนนิยม “เบียร์แทดงกัง” ที่ถูกจัดเป็นเบียร์ชั้นนำของประเทศตามท่านผู้นำ

ในขณะที่ในฝั่งอเมริกา “เบียร์บัดไลท์” ครองใจนักดื่มมากที่สุดในขณะที่ “บัดไวเซอร์” นั้นอยู่ในกระแสเลือดเหล่านักดื่มแดนใบเมเปิล แคนาดา และพบว่าเม็กซิโกนิยม “เบียร์โคโรนา เอ็กซ์ตรา” มากที่สุด ส่วนเวเนซุเอลา ประธานาธิบดีนิโคลัสมาดูโรแนะนำ “เบียร์โพลาร์” เป็นอันดับ 1 แต่อาจจะหาซื้อยากหรือต้องเข้าคิวยาวนานหลายชั่วโมงเนื่องด้วยเวเนซุเอลายังคงประสบปัญหาขาดแคลนสินค้าขั้นพื้นฐาน ดังนั้นการจะหาเบียร์โพลาร์ซักขวดอาจเป็นเรื่องต้องจินตนาการเท่านั้นในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้

และเมื่อข้ามฝั่งมายังยุโรป จะพบว่า “เบียร์บาลติกา” เป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และชาวหมีขาวแห่งรัสซียนิยมมากที่สุดถ้าไม่นับเหล้าวอดก้า ส่วนยูเครนต้อง “เบียร์โอโบลอน” เท่านั้น ในขณะที่เยอรมันประเทศแห่งเบียร์ พบว่าเบียร์ยี่ห้อ “Oettinger” ครองใจสาวกเมืองเบียร์มากที่สุด ด้านไอร์แลนด์ “เบียร์กินเนส” ถือเป็นหนึ่งในดวงใจของชาวไอริช ส่วนชนผู้ดีอังกฤษนิยม “เบียร์คาร์ลิง” ในขณะที่ “เบียร์ไฮเนเก้น” ที่โด่งดังไปทั่วโลกแต่กลับครองความนิยมอันดับ 1 เฉพาะในเนเธอร์แลนด์เท่านั้น ส่วนฝรั่งเศสที่ชนแดนน้ำหอมถึงแม้จะหลงใหลในไวน์รสเลิศแต่ถ้าหากถามถึงเบียร์คงต้องยอมให้กับ ”เบียร์kronenbourg1664blanc”



แผนที่บอกความนิยมยี่ห้อเบียร์ของนักดื่มทั่วโลกที่จัดทำขึ้นโดย VinePair หลังจากนักอ่านสนใจล้นหลามในการจัดลำดับยี่ห้อเบียร์ในดวงใจของชาวอเมริกัน และเรียกร้องต้องการทราบถึงความนิยมยี่ห้อเบียร์ในแต่ละประเทศ ซึ่งตามปกติแล้ว VinePair เป็นเว็บไซต์รายงานทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับไวน์เป็นหลัก








กำลังโหลดความคิดเห็น