เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลโคลอมเบีย กับ กลุ่มกบฏฝ่ายซ้ายเอฟเออาร์ซี ในการร่วมกันขจัด “กับระเบิด” จะมีผลบังคับใช้ในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลโบโกตา ในวันอังคาร (17 มี.ค.)
รายงานข่าวซึ่งอ้างพลเอก ออสการ์ นารันโฮ อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพโคลอมเบีย ซึ่งปัจจุบันรับหน้าที่เป็นผู้แทนของรัฐบาลโบโกตาในการเจรจาสันติภาพ กับกองกำลังติดอาวุธเพื่อการปฏิวัติแห่งโคลอมเบีย หรือกลุ่มกบฏเอฟเออาร์ซี ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวซึ่งถูกลงนามโดยคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จะถูกนำมาบังคับใช้ใน 6 สัปดาห์ โดยเจ้าหน้าที่จากกองทัพโคลอมเบีย และสมาชิกฝ่ายกบฏซึ่งจะแต่งกายในชุดพลเรือน จะเป็นผู้ลงมือเก็บกู้กับระเบิดในพื้นที่ที่ฝ่ายตนควบคุมอยู่ ภายใต้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการเงินจากองค์กรเอกชนจากประเทศนอร์เวย์
นับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตจากการตกเป็นเหยื่อกับระเบิดในโคลอมเบียกว่า 2,000 คน ขณะที่อีกราว 9,000 คน ได้รับบาดเจ็บ ส่งผลให้โคลอมเบีย เคยถูกจัดอันดับให้เป็นดินแดนที่มีเด็กตกเป็นเหยื่อของกับระเบิดสูงเป็นที่ 2 ของโลกรองจากอัฟกานิสถาน
ทั้งนี้ ประธานาธิบดี ฮวน มานูเอล ซานโตส ผู้นำโคลอมเบีย เคยคาดการณ์ระหว่างการเจรจาสันติภาพ กับกลุ่มเอฟเออาร์ซี ว่า อาจต้องใช้เวลา “อย่างน้อย 1 ทศวรรษ” กว่าที่การเก็บกู้กับระเบิดทั่วประเทศจะแล้วเสร็จ
ความเคลื่อนไหวล่าสุดเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลโคลอมเบีย กับกลุ่มกบฏฝ่ายซ้ายเอฟเออาร์ซีที่จับอาวุธต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 1964 โดยการเจรจารอบล่าสุดซึ่งเปิดฉากขึ้นตั้งแต่ปี 2012 นี้ มีรัฐบาลคิวบาและนอร์เวย์ ให้การสนับสนุนเพื่อหาทางยุติความขัดแย้งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 220,000 คน