เอเอฟพี - พ่อของนักศึกษาสาวที่เสียชีวิตหลังจากถูกรุมโทรมอย่างทารุณในกรุงนิวเดลี ออกมากล่าวในวันนี้ (5 มี.ค.) ว่า เขาคิดว่าทุกคนควรดูภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับเหตุข่มขืนครั้งนั้นซึ่งออกอากาศโดยสถานีโทรทัศน์บีบีซีแต่ถูกห้ามฉายในอินเดีย
สถานีวิทยุและโทรทัศน์ของอังกฤษแห่งนี้ร่นเวลาการฉาย “India's Daughter” มาเป็นเมื่อเย็นวานนี้ (4) โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะกระแสความสนใจของสาธารณชนที่ล้นหลาม หลังจากศาลอินเดียออกคำสั่งห้ามไม่ให้สถานีโทรทัศน์ทุกเจ้าออกอากาศภาพยนตร์เรื่องนี้
ภาพยนตร์เรื่องนี้จุดกระแสการโต้เถียงอย่างดุเดือดขึ้นในแดนภารตะ เนื่องจากในภาพยนตร์มีส่วนหนึ่งที่เป็นการสัมภาษณ์หนึ่งในนักโทษคดีข่มขืน มูเคช สิงห์ ซึ่งได้กล่าวตำหนิผู้เป็นเหยื่อวัย 23 ปีรายดังกล่าว และระบุว่าเธอไม่ควรออกไปไหนตอนกลางค่ำกลางคืนและไม่ควรต่อสู้ขัดขืนด้วย
อย่างไรก็ตาม พ่อของเหยื่อซึ่งไม่อาจเผยนามได้กล่าวว่า ความคิดเห็นดังกล่าวควรได้เป็นที่รับรู้กันในสังคม
“ทุกคนควรดูภาพยนตร์เรื่องนี้” สำนักข่าวเอ็นดีทีวีรายงาน โดยอ้างจากคำพูดของเขา
“หากมีคนพูดอย่างนั้นได้ในเรือนจำ ลองคิดดูว่าเขาจะพูดอะไร หากว่าเขากำลังเดินอยู่ข้างนอกอย่างอิสระ” เขากล่าว และเรียกภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ว่าเป็น “ความจริงอันน่าขมขื่น”
แม่ของเหยื่อบอกกับเอ็นดีทีวี ซึ่งมีกำหนดออกอากาศภาพยนตร์เรื่องนี้ร่วมกับบีบีซี ในวันอาทิตย์ (8) เนื่องในวันสตรีสากล ว่าเธอไม่ได้คัดค้านคำสั่งห้ามฉาย แต่เชื่อว่ามุมมองของ สิงห์ มีอยู่อย่างแพร่หลายในอินเดีย
“ฉันไม่ได้แคร์ว่ารัฐบาลจะทำอะไร จะแบนหรือไม่แบนภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ช่าง สิ่งเดี่ยวที่ฉันรู้คือไม่มีใครรู้สึกตื่นกลัว เพราะไม่ใช่แค่ มูเคช คนเดียวที่คิดอย่างนั้น” เธอกล่าว
ราชนาฏ สิงห์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยอินเดียบอกกับรัฐสภาเมื่อวานนี้ (4) ว่า รัฐบาลต้องขอคำสั่งห้ามฉายก็เพราะว่า ความคิดเห็นของ สิงห์ “เลวร้ายอย่างมากและเป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีของสตรี”
ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เป็นผลงานของ เลสลี อัดวิน ผู้กำกับมือรางวัลชาวอังกฤษ และได้จุดกระแสการโต้เถียงกันอย่างดุเดือดขึ้นในแดนภารตะ
เอ็ม. เวงแกยา นายฑู หนึ่งในคณะรัฐมนตรี เรียกภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าเป็น “แผนทำลายชื่อเสียงอินเดีย” แต่สมาชิกสภานิติบัญญัติหลายคนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าเป็นห่วงเรื่องชื่อเสียงของประเทศมากกว่าภัยอันตรายที่ผู้หญิงกำลังเผชิญ
เหตุรุมโทรมนักศึกษากายภาพบำบัดในเดือนธันวาคมปี 2012 ได้สร้างความเดือดดาลไปทั่วโลกและจุดชนวนให้เกิดการประท้วงใหญ่ในแดนภารตะ พร้อมตอกย้ำให้เห็นถึงความรุนแรงในระดับที่น่ากลัวต่อสตรีในประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้
เหตุการณ์ดังกล่าวยังนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายข่มขืนของอินเดียขนานใหญ่ ด้วยการเร่งระยะเวลาพิจารณาคดีและเพิ่มโทษให้หนักหน่วงขึ้น แม้ว่านักรณรงค์มากมายจะบอกว่า สำหรับผู้หญิงโดยรวมๆ แล้วมันแทบไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย