xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันขึ้น-ทองคำลง หุ้นสหรัฐฯ ปิดลบหลังยอดขายรถยนต์ห่อเหี่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ยอดขายรถยนต์ที่ลดลงท่ามกลางสภาพอากาศหนาวจัดในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นปัจจัยที่ฉุดตลาดหุ้นสหรัฐฯ
เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ราคาน้ำมันเมื่อวันอังคาร (3 มี.ค.) ขยับขึ้นพอสมควร จากข่าวความไม่สงบในชาติผู้ส่งออกอย่างลิเบีย ผิดกับวอลล์สตรีทที่ปิดลบ หลังพบยอดขายรถยนต์ออกมาน่าผิดหวัง ขณะที่ทองคำปรับลดในกรอบแคบๆ จับข้อมูลต่างๆนานาที่จะบ่งชี้ทิศทางของเศรษฐกิจอเมริกา

น้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 93 เซ็นต์ ปิดที่ 50.52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน เพิ่มขึ้น 1.48 ดอลลาร์ ปิดที่ 61.02 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

เครื่องบินรบของพวกนักรบเข้าโจมตีคลังส่งออกน้ำมันหลักในลิเบีย แต่โฆษกของกองกำลังรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ชี้แจงว่าพวกมันถูกขับไล่โดยการยิงต่อต้านอากาศยาน โดยที่ไม่สามารถทำลายเป้าหมายใดๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวได้ก่อความกังวลต่ออุปทาน ภายในชาติส่งออกน้ำมันแห่งนี้

ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังจับตารายงานคลังเชื้อเพลิงสำรองรายสัปดาห์ของสหรัฐฯที่มีกำหนดเผยแพร่ในวันพุธ (4 มี.ค.) หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบว่าสต๊อกน้ำมันของอเมริกา เพิ่มขึ้นถึง 9.4 ล้านบาร์เรล แตะระดับสูงสุดตลอดกาลที่ 434.1 ล้านบาร์เรล

ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร (3 มี.ค.) ปิดลบ ขยับลงจากระดับสูงตลอดกาล หลังยอดขายรถยนต์ที่เบาบางก่อความสงสัยต่อเศรษฐกิจอเมริกา

ดาวโจนส์ ลดลง 85.26 จุด (0.47 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 18,203.37 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 9.61 จุด (0.45 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,107.78 จุด แนสแดค ลดลง 28.20 จุด (0.56 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,979.90 จุด

หุ้นของฟอร์ด มอเตอร์ ปิดลบร้อยละ 2.4 หลังจากรายงานยอดจำหน่ายรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.79 ส่วนโตโยต้าและเฟียต ไครสเลอร์ ก็เป็นหนึ่งในบรรดาหลายๆบริษัทที่รายงานยอดขายต่ำกว่าคาดหมาย บ่งชี้ว่าสภาพอากาศหนาวเหน็บกระทบต่อการซื้อรถของผู้บริโภค

ส่วนราคาทองคำวานนี้ (3 มี.ค.) ขยับลง 2 วันติดต่อกัน นักลงทุนทบทวนรายงานทางเศรษฐกิจในสัปดาห์ที่จะมีการเผยแพร่ข้อมูลบ่งชี้ทิศทางเศรษฐกิจออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะปิดท้ายด้วยตัวเลขการจ้างงานในวันศุกร์ (6 มี.ค.) โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ ลดลง 3.80 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,204.40 ดอลลาร์ต่อออนซ์


กำลังโหลดความคิดเห็น