รอยเตอร์ - นายกรัฐมนตรี โทนี แอ็บบอตต์ แห่งออสเตรเลีย หันมาใช้ถ้อยคำประนีประนอมกับอินโดนีเซียมากขึ้นในวันนี้ (26 ก.พ.) โดยระบุว่าตนได้โทรศัพท์พูดคุยกับประธานาธิบดีโจโค วิโดโด “ฉันมิตร” เพื่อขอชีวิตสองพลเมืองแดนจิงโจ้ที่ต้องโทษประหารในคดีขนยาเสพติด
แอ็บบอตต์ระบุว่า ตนได้คุยโทรศัพท์กับ “เพื่อน” อย่าง วิโดโด เมื่อเย็นวันพุธ (25) และผู้นำอิเหนาก็ “เข้าใจจุดยืนของออสเตรเลียเป็นอย่างดี... จนผมคิดว่าเขาคงจะพิจารณาจุดยืนของอินโดนีเซียอย่างถี่ถ้วนเช่นกัน”
ก่อนหน้านี้ ผู้นำอินโดนีเซียยืนกรานว่าจะไม่ผ่อนปรนให้กับ 11 ผู้ต้องหาที่ต้องโทษประหารชีวิตในคดียาเสพติด รวมถึง แอนดรูว์ ชาน และ มยูรัน สุกุมารัน สองพลเมืองออสเตรเลียที่ได้ยื่นขอละเว้นโทษตายมาแล้วหลายครั้ง และกำลังเป็นต้นเหตุความตึงเครียดระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้าน
เมื่อไม่กี่วันก่อน แอ็บบอตต์เพิ่งจะสร้างความเดือดดาลต่อรัฐบาลอินโดนีเซียโดยการออกมาลำเลิกบุญคุณที่เคยช่วยเหลือแดนอิเหนาเมื่อครั้งประสบภัยสึนามิ ปี 2004 เพื่อกดดันให้จาการ์ตายอมไว้ชีวิตพลเมืองของตนบ้าง แต่ก็ถูกอินโดนีเซียตอกกลับว่า “คำขู่” ไม่ใช่ภาษาของนักการทูต
“การคุยกันครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดี... เป็นเครื่องหมายแสดงถึงมิตรภาพที่ลึกซึ้งระหว่างออสเตรเลียและอินโดนีเซีย” ผู้นำแดนจิงโจ้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่กรุงแคนเบอร์รา โดยปฏิเสธที่จะเล่ารายละเอียดของบทสนทนา
“ผมไม่อยากให้ทุกคนด่วนคาดหวัง เพราะอาจจะไม่เป็นไปอย่างที่คาด... ผมเพียงแต่ออกมาพูดเพื่อชาวออสเตรเลีย และปกป้องค่านิยมของออสเตรเลียเท่าที่จะทำได้ แต่ผมเองก็ต้องเคารพและรักษามิตรภาพกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน”
เอช.เอ็ม ปราเซ็ตโย อัยการสูงสุดอินโดนีเซีย ยืนยันวานนี้ (25) ว่า กำหนดการประหารนักโทษด้วยวิธียิงเป้าจะไม่ถูกเลื่อนหรือยกเลิกเพียงเพราะกระแสกดดันทางการทูต แต่ก็ยังไม่ระบุวันเวลาที่แน่นอน
ประธานาธิบดีวิโดโดกล่าวเตือนต่างชาติว่า ไม่ควรก้าวก่ายกิจการภายในของอินโดนีเซีย หลังได้รับเสียงร้องเรียนจากรัฐบาลบราซิล ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งต่างมีพลเมืองที่รอการประหารชีวิตในแดนอิเหนา
กฎหมายอินโดนีเซียมีบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับผู้ลักลอบขนยาเสพติด และได้เริ่มประหารนักโทษอีกครั้งในปี 2013 หลังจากที่ว่างเว้นไป 5 ปี
เมื่อวันอังคาร (24) ศาลกรุงจาการ์ตาปฏิเสธไม่รับคำร้องของ สุกุมารัน วัย 33 ปี และ ชาน วัย 31 ปี ซึ่งยื่นคัดค้านการปฏิเสธลดหย่อนโทษของประธานาธิบดี วิโดโด
ทั้งสองเป็นหัวหน้ากลุ่ม “บาหลีไนน์” ซึ่งประกอบด้วยชาวออสเตรเลีย 9 คนที่พยายามลักลอบขนเฮโรอีนออกจากเกาะบาหลี เมื่อปี 2005
รัฐบาลออสเตรเลียพยายามย้ำประเด็นที่ว่า สุกุมารัน และ ชาน ได้รับการบำบัดพฤติกรรมขณะอยู่ในเรือนจำ และเป็นที่ปรึกษาให้แก่ผู้ต้องขังที่อายุน้อย ซึ่งถือว่าได้กระทำประโยชน์ให้แก่เรือนจำอินโดนีเซียพอสมควร