xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ชี้ เจรจานุกอิหร่าน “ก้าวหน้า” แม้หนทางบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายยังอีกไกล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ (ซ้ายสุด) และโมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน (คนที่ 2 จากขวา)
รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่อาวุโสอเมริกันระบุในวันจันทร์ (23 ก.พ.) ว่า สหรัฐฯ ได้สร้างความก้าวหน้าบางประการ ระหว่างการเจรจาเรื่องโครงการนิวเคลียร์กับอิหร่าน และสามารถ “ขัดเกลาประเด็นปัญหายากๆ ได้บ้างแล้ว” แม้กระนั้นทั้งสองชาติก็ยังชี้ว่า หนทางในการบรรลุข้อตกลงเพื่อควบคุมโครงการนิวเคลียร์เตหะรานนั้นยังอีกไกล

ผู้แทนในการเจรจาจากอิหร่าน และกลุ่มชาติมหาอำนาจ P5+1 ได้ตกลงกลับคืนสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้งในวันจันทร์หน้า (2 มี.ค.) แต่ยังไม่มีการกำหนดสถานที่แน่ชัด เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวระบุ หลังจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และโมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน หารือกันนาน 2 วันที่นครเจนีวา

ซารีฟ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวฟาร์สของอิหร่านว่า “ในช่วงสามวันที่ผ่านมา เราได้เจรจากับผู้แทนชาติ P5+1 อย่างจริงจัง โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ... แต่หนทางที่จะบรรลุข้อตกลงในขั้นสุดท้ายนั้นยังอีกไกล”

ขณะที่เคร์รีเดินทางกลับถึงสหรัฐฯ ในวันจันทร์ (23) เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศแดนอินทรีระบุว่า เคร์รี และซารีฟจะหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า และกำลังจะมีการพูดคุยกันถึงรายละเอียด

ทั้งนี้ กลุ่มชาติมหาอำนาจ P5+1 ได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี กำลังพยายามหาทางบรรลุข้อตกลงกับเตหะราน เพื่อขจัดความกังวลว่า อิหร่านกำลังพยายามพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ชาตินี้ยืนกรานว่าไม่เป็นความจริง

ผู้แทนในการเจรจาต่างคาดหวังที่จะบรรลุข้อตกลงทางการเมืองเบื้องต้นได้ทันกำหนดเส้นตายวันที่ 31 มีนาคม ตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้ แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า เส้นตายจะไม่ “เป็นตัวเร่งให้เรารีบด่วนตกลงกันจนกระทั่งลืมวัตถุประสงค์ที่ประธานาธิบดี (โอบามา) วางเอาไว้”

เจ้าหน้าที่ระบุว่า เป้าหมายในการควบคุมไม่ให้อิหร่านสามารถผลิตวัสดุนิวเคลียร์ในเกรดที่สามารถนำไปผลิตอาวุธนั้น “จะต้องบรรลุผล ซึ่งนั่นไม่เกี่ยวกับเส้นตาย แต่เป็นเรื่องของจุดประสงค์ล้วนๆ”

อิหร่าน ซึ่งปฏิเสธว่าไม่ได้มีแผนผลิตอาวุธนิวเคลียร์ คาดหวังว่าการทำข้อตกลงจะช่วยให้นานาชาติผ่อนปรนมาตรการเตหะรานในที่สุด



สมรรถนะ “ทะลุทะลวง”

นักการทูตระบุว่า มหาอำนาจทั้ง 6 ชาติมุ่งหมายให้ข้อตกลงมีผลบังคับใช้อย่างน้อย 10 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านพัฒนายูเรเนียมที่มีความเข้มข้นสูงมากพอสำหรับผลิตระเบิดปรมาณูสักลูก หรือที่เรียกกันว่า สมรรถนะ “ทะลุทะลวง” (breakout capacity) ซึ่งจะทำให้อิหร่านสามารถที่จะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาได้สำเร็จภายในระยะเวลาอันสั้น

เส้นตายที่ใกล้เข้ามาได้สร้างความแตกแยกระหว่างสหรัฐฯ กับหนึ่งในชาติพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดคืออิสราเอล โดยรัฐยิวเคยพรรณนาการเจรจาหารือกับอิหร่านว่า “เป็นอันตราย” และ “น่าพิศวง” ขณะที่แดนอินทรีก็กล่าวหารัฐยิวว่าบิดเบือนจุดยืนของสหรัฐฯ

โมเช ยาลอน รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอลระบุในคำแถลงเมื่อวันจันทร์ (23) ว่า “การเห็นพ้องต้องกันกับอิหร่าน อย่างที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ถือเป็นอันตรายต่อสันติภาพของโลกตะวันตกอย่างร้ายแรง และเป็นภัยต่อความมั่นคงของอิสราเอล”

ยาลอนชี้ว่า ข้อตกลงนี้จะช่วยให้อิหร่านหลุดพ้นจากมาตรการคว่ำบาตร ทั้งยังสามารถเดินหน้าเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม (ให้กลายเป็นยูเรเนียมเกรดที่สามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้) นอกจากนี้เขายังปรามาสอิหร่านว่าเป็น “ระบอบปกครองที่ภัยร้ายแรงที่สุด” และเป็นปัจจัยหลักที่อยู่เบื้องหลังความไร้สเถียรภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ตาม ประเทศเดียวในตะวันออกกลางที่ครอบครองคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ก็คือ อิสราเอล โดยรัฐยิวยังขู่จะโจมตีอิหร่านหากแผนโครงการนิวเคลียร์ของเตหะรานไม่เป็นที่พอใจของอิสราเอล
โรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์บุเชห์ร ทางภาคใต้ของอิหร่าน

กำลังโหลดความคิดเห็น